26 มิ.ย. 2551

ราคาน้ำมันดิบโลก 130 ดอลลาร์มาจากอะไร

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4013 (3213)
การประชุมสุดยอดพลังงานที่เมืองเจดดาห์ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นภาพปกติให้เห็น คือ ความผันผวนในตลาดน้ำมัน ดิบโลก และราคาที่มีแรงกดดันให้ปรับขึ้นมากกว่าลง ซาอุดีอาระเบียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของกลุ่มโอเปก และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ได้ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแต่ละวันอีกประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 9.7 ล้านบาร์เรล ในเดือนกรกฎาคม แต่ดูเหมือนปฏิกิริยาจากทั้งสมาชิกโอเปกบางประเทศ และ นักวิเคราะห์บางราย มองไปในมุมเดียวกันว่า แผนริเริ่มต่างๆ ของซาอุดีอาระเบียยากจะดึงราคาน้ำมันดิบลงมา เนื่องจากการ พุ่งทะยานเหนือ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาจากการเก็งกำไรในตลาด มากกว่าจะมาจากเหตุผลของการขาดแคลนน้ำมันไมค์ วิตเนอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยน้ำมัน ของโซซิเอเต เชเนราล ในลอนดอน ให้ความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน ไม่ถือว่ามากเลย โดยเฉพาะหากเมื่อเทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งออกมาว่าจะมีการเพิ่มผลิต 500,000 บาร์เรลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กได้พุ่งขึ้นทำสถิติใหม่ระหว่างวันที่ 139.89 ดอลลาร์ มากกว่าระดับราคาเมื่อ 6 ปีก่อนถึง 5 เท่าตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การประท้วงและการจลาจลในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน กระตุ้นเงินเฟ้อให้ปะทุเร็วขึ้น และบีบให้ ผู้บริโภคเชื้อเพลิงบางกลุ่ม โดยเฉพาะ สายการบิน ต้องเลิกกิจการหากพิจารณาจากแถลงการณ์ร่วมของ ที่ประชุมเจดดาห์ จะพบว่าเป้าหมายหนึ่งของผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะในฟากของประเทศ ผู้ผลิตน้ำมัน ได้พุ่งไปที่พฤติกรรมการเก็งกำไร โดยเฉพาะสาระสำคัญที่ "เรียกร้องให้มีการเพิ่มความโปร่งใสและการกำกับดูแลตลาดการเงินผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของ พวกกองทุนดัชนี (index fund) และ ตรวจสอบพฤติกรรมระหว่างตลาดต่างๆ ในตลาดน้ำมันดิบ"ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า "การเก็งกำไร" กำลังเป็นประเด็นร้อนทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดล่วงหน้า เสนอต่อคณะกรรมาธิการการค้าและพลังงานประจำสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อสรุปว่า นักเก็งกำไรเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า โดยมีสัดส่วนในการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าของสัดส่วนการซื้อขาย เมื่อ 8 ปีก่อน โดยในปี 2543 นักเก็งกำไรมีสัดส่วนในการควบคุมสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันในสถานะผู้ซื้อน้ำมันดิบสหรัฐ 37% ในตลาดนิวยอร์ก เมอร์แคนไทล์ โดยที่เหลือถือครองโดยผู้ที่เข้ามาซื้อเพื่อประกันความเสี่ยง รวมถึง โรงกลั่น และสายการบิน ซึ่งต้องการประกันความเสี่ยงจากราคาเชื้อเพลิงในช่วงของการส่งมอบ แต่นับถึงเดือนเมษายนปีนี้ นักเก็งกำไรมีสัดส่วนในการควบคุมสัญญาฟิวเจอร์เพิ่มขึ้นเป็น 71%ข้อมูลดังกล่าวเป็นที่มาของแถลงการณ์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) โดยจอห์น ดิงเกลล์ ประธานกรรมาธิการการค้าและพลังงาน ซึ่งแสดงความกังวลต่อบทบาทของนักเก็งกำไร และข้อสงสัยเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าว่า อาจจะไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์-อุปทานในตลาด ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนฯสหรัฐยังมีการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อการป้องกันการเก็งกำไรราคาอย่างไม่เป็นธรรม (Prevent Unfair Manipulation of Prices : PUMP) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกำจัดช่องโหว่ที่เปิดให้ผู้ค้าในตลาดพลังงานทำกำไรมากเกินควร และสร้างปัญหาราคาน้ำมันแพงให้ผู้บริโภคต้องรับผลกระทบ ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดยบาร์ต สติวแพค ส.ส.สังกัดพรรคเดโมแครต และเป็นประธาน อนุกรรมาธิการฝ่ายการตรวจสอบและการกำกับดูแล ภายใต้กรรมาธิการการค้า และพลังงาน สภาผู้แทนฯ สติวแพคระบุว่า การเก็งกำไรมากเกินควรกำลังจะ "ฆ่า" เศรษฐกิจของสหรัฐ พร้อมตั้งสังเกตว่า ที่ผ่านมาการเก็งกำไร จะมีสัดส่วนในราคาน้ำมันดิบเพียง 8-9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น แต่ปัจจุบันการเก็งกำไรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกือบครึ่งหนึ่งของระดับราคาอย่างไรก็ตาม สัดส่วนการเก็งกำไร ในตลาดน้ำมันยังมีมุมมองต่าง ดังตัวเลขประเมินของกระทรวงพลังงานสหรัฐ ที่คาดว่าการเก็งกำไรมีสัดส่วนประมาณ 10% ของราคาน้ำมัน หรือประมาณ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกเหนือจากประเด็นเก็งกำไรแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันยังมาจาก "ดอลลาร์อ่อน" ซึ่งนับจากสิ้นปี 2544 อัตราอ้างอิงของเงินดอลลาร์สหรัฐที่คำนวณจากตะกร้าเงินของประเทศคู่ค้าหลายสกุลได้ลดลง 37% แต่ในแง่ผลกระทบจากราคานั้น พบว่าจากต้นปี 2544-2548 ราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 46% เมื่อคิดจากมูลค่าเงินดอลลาร์ แต่หากเทียบเป็นมูลค่าเงินยูโรจะเพิ่มขึ้นเพียง 8% และเฉพาะในช่วงมกราคม 2549 ถึงมกราคม 2551 พบว่าราคาน้ำมัน ในช่วง 2 ปีนี้ ได้เพิ่มขึ้น 46% เมื่อคิด จากมูลค่าเงินดอลลาร์ และเพิ่มขึ้น 17% เมื่อคิดเป็นเงินยูโรในแง่ปัจจัยของอุปสงค์อุปทาน แอนดรูว์ แบรี จากบาร์รอน สิ่งพิมพ์ในเครือดาวโจนส์ ระบุในบทความเรื่อง Bye Bubble ? : the price of oil may be peaking ว่า โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันมีการบริโภคต่อคนอยู่ที่ 25 บาร์เรลต่อปี ญี่ปุ่นใช้พลังงาน 14 บาร์เรลต่อคนต่อปี ขณะที่จีน พบว่า 1.3 พันล้านคน บริโภคน้ำมันแค่ 2 บาร์เรลต่อคนต่อปี และประชากร 1.1 ล้านคนของอินเดีย มีอัตราการใช้น้ำมันไม่ถึง 1 บาร์เรลต่อคนต่อปีอย่างไรก็ตาม เขาได้ตั้งข้อสังเกตในบทความว่า เป็นเรื่องยากที่ประเมินได้ว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์-อุปทานมีผลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 40% ในปีนี้ มากน้อยแค่ไหน และไม่มีใครรู้ว่าปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยดอลลาร์ การเก็งกำไร ในตลาดคอมมอดิตี้ส์ และผลประโยชน์ ของนักลงทุนกลุ่มสถาบัน มีมากน้อยแค่ไหน แต่เขาก็คิดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่คลางแคลงใจว่า การพุ่งขึ้นของราคามาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่หลักทาง เศรษฐศาสตร์เท่านั้น

19 มิ.ย. 2551

ทำไม ไม่ควรรั้ง พนักงานที่ขอลาออก

จากบทความคราวที่แล้ว อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมผมไม่นิยมรั้งพนักงานที่ขอลาออก สาเหตุแรกคือ พนักงานที่จะลาออกส่วนใหญ่จะต้องมีปัญหา ที่บริษัทไม่สามารถตอบสนองความต้องการบางอย่างของพนักงานคนนั้นได้ เพราะฉะนั้นหากผมรั้งให้พนักงานอยู่ต่อ... จากประสบการณ์อีกไม่นานพนักงานคนนั้นก็ต้องลาออกอีกครั้งอยู่ดี
สาเหตุที่สอง หากพนักงานคนนั้นมีความรักองค์กรจริง เมื่อเขาประสบปัญหาเขาควรจะแจ้งให้บริษัทรับทราบเพื่อทำการแก้ไข มิใช่การบอกให้บริษัททราบในวันที่เขาลาออก ... อย่างนั้นแสดงว่าเขาไม่รักองค์กรจริง แต่ผู้บริหารเองก็ต้องพิจารณาด้วยนะครับว่า ท่านให้โอกาสพนักงานของท่านถ่ายทอดปัญหาให้กับท่านได้รับฟังบ้างหรือไม่ ถ้าท่านไม่เคยรับฟัง ... อย่าได้แปลกใจที่องค์กรของท่านจะมีพนักงานลาออกเรื่อยๆ โดยท่านไม่สามารถแก้ไขได้
สาเหตุที่สาม คือเหตุผลที่สำคัญที่สุด ... การที่พนักงานขอลาออก แสดงว่าพนักงานคนนั้นหมด "ใจ" ในการทำงานให้กับบริษัทแล้ว ... พนักงานที่หมด "ใจ" จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงกว่า 30% แล้วท่านคิดว่าเมื่อประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เช่นนี้แล้ว ท่านยังอยากจะจ้างพนักงานคนนี้ ด้วยเงินเดือนเท่าเดิมหรือไม่ ... ไม่ต้องพูดถึงการขึ้นเงินเดือนให้พนักงานอยู่ต่อครับ
ท่านควรจะไปเพิ่มเงินเดือนให้กับคนที่จงรักภักดีกับองค์กรให้มากขึ้น แก้ปัญหาที่ได้รับฟังจากพนักงานที่ลาออก เพื่อไม่ให้คนรับใหม่ต้องเจอกับสภาพเช่นเดิมอีก ... ที่สำคัญอย่าลืมอวยพรให้กับพนักงานที่ลาออกโชคดีด้วยนะครับ ...

18 มิ.ย. 2551

พนักงานขอลาออก?

พนักงาน คือ ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ การสูญเสียพนักงานย่อมส่งผลกับองค์กรไม่มากก็น้อย แล้วเราควรจะจัดการกับพนักงานที่ลาออกอย่างไรดี

ผู้บริหารบางคนจะเรียกพนักงานมาแล้ว เพิ่มเงินเดือนให้ นี่คือวิธีการที่นิยมใช้มากที่สุด เพื่อเหนี่ยวรั้งพนักงานเอาไว้ แต่จะบอกว่าวิธีการนี้ส่งผลเสียมากที่สุดเช่นกัน เพราะจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด และไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน แถมยังสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้กับพนักงานที่จงรักภักดีกับองค์กร ไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยมีปากเสียง แต่ไม่ได้รับการปรับเงินเดือน
ผู้บริหารบางคนไม่สนใจ คุณจะลาออกก็เชิญ บริษัทนี้มีแต่คนอยากจะเข้ามาทำงาน คุณออกไปคนเดียวไม่กระทบกับองค์กรหรอก ก็อาจจะถูกแต่มันทำให้คุณเสียโอกาสที่สำคัญไปนะ
ผู้บริหารที่ดี ควรจะเรียกพนักงานเข้ามาเพื่อทำการสัมภาษณ์ก่อนออกจากงาน ซึ่งคุณจะได้รับข้อมูลบางอย่างที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง ขอให้คิดไว้เสมอว่าสาเหตุของการลาออกของพนักงานไม่ได้มีแค่สาเหตุจากเรื่องผลตอบแทนเท่านั้น แต่มีสาเหตุอื่นๆ อีกหลายสาเหตุที่มีเหตุผลมากกว่า
ผมเองจะไม่นิยม ที่จะรั้งพนักงานที่ขอลาออกให้ทำงานต่อ ... สาเหตุ เหรอครับ เอาไว้คราวน่าจะเล่าให้ฟังครับ

6 มิ.ย. 2551

ประเภทและรูปแบบของการวิจัย

ประเภทและรูปแบบของการวิจัย
การวิจัยอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
2.1 การวิจัยตามศาสตร์
2.2 การวิจัยตามวัตถุประสงค์
2.3 การวิจัยตามการเก็บรวบรวมข้อมูล
2.1 ประเภทการวิจัยตามศาสตร์ มี 2 สาขาใหญ่ คือ
2.1.1 วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural science) เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา อาจเรียกว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือ Pure science research
2.1.2 สังคมศาสตร์ (Social science) เช่น เรื่องจิตวิทยา พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ปรากฏการณ์ทางสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคม วัฒนธรรม อารยธรรม
2.2 ประเภทการวิจัยตามวัตถุประสงค์
2.2.1 การวิจัยพื้นฐาน (Basic research, pure research, theoretical research)
2.2.2 การวิจัยประยุกต์ (Applied research)
1) การวิจัยปรับใช้ (Adaptive research)
2) การพัฒนาโดยการทดลอง (Experimental development)
3) การวิจัยเชิงตรวจสอบ (Exploratory research)
4) การวิจัยเพื่อการพยากรณ์ (Prediction research)
5) การวิจัยเพื่อการวางแผน (Planning research)
6) การวิจัยเพื่อการพัฒนา (Development research)
2.3 ประเภทการวิจัยตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
2.3.1 การวิจัยเอกสาร ศึกษาจากข้อมูลทุติยภูมิ นิยมในสถานศึกษา (Documentary research)
2.3.2 การวิจัยจากสนาม (Field research)
1) การวิจัยโดยการสังเกตการณ์ (Observation research)
2) การวิจัยแบบสำมะโน (Census research)
3) การวิจัยแบบสำรวจ (Survey research)
4) การวิจัยกรณี (Case study หรือ Intensive investigation)
5) การวิจัยเชิงการทดลอง (Experimental research)
2.4 การใช้เกณฑ์อื่น ๆ เพื่อจำแนกประเภทการวิจัย อาจจำแนกโดย
1) ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย เช่น การวิจัยพื้นฐาน ประยุกต์ เชิงปฏิบัติ
2) คุณลักษณะข้อมูล เช่น การวิจัยเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ
3) ระดับการศึกษาของตัวแปร เช่น การวิจัยเพื่อสำรวจเพื่อตรวจสอบสมมติฐาน
4) ชนิดของข้อมูล เช่น เชิงประจักษ์ ใช้ข้อมูลปฐมภูมิ เชิงไม่ประจักษ์ ใช้ข้อมูลทุติภูมิ
5) ลักษณะการศึกษาตัวแปร เช่น เชิงสำรวจ ศึกษาย้อนหลัง เชิงทดลอง
6) ระเบียบวิธีการวิจัย เช่น เชิงประวัติศาสตร์ เชิงพรรณนา เชิงทดลอง
2.5 การวิจัยประเภทอื่นๆ
2.5.1 การวิจัยเชิงพรรณนาหรือแบบบรรยาย (Descriptive research)
* บรรยายสภาพคุณลักษณะ คุณสมบัติ รายละเอียดของเหตุการณ์
* ศึกษาข้อเท็จจริงใหม่ๆ แต่ไม่แสวงหาคำอธิบายว่าปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
2.5.1.1 วัตถุประสงค์
1) รวบรวมข้อมูลปัจจุบันว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร
2) นำข้อมูลปัจจุบันไปอธิบายประเมินผลหรือเปรียบเทียบ
3) ศึกษาความสัมพันธ์และแนวโน้มของเหตุการณ์ปัจจุบัน
2.5.1.2 ลักษณะข้อมูลวิจัยเชิงพรรณนาหรือบรรยาย
* ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitive data) เช่น เนื้อที่ น้ำหนัก อายุ
* ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitive data) ได้จากการสัมภาษณ์ เช่น ทัศนคติ ความเห็น ดัชนี (Index) มาตราวัด (Scale)
2.5.1.3 ชนิดของการวิจัยเชิงบรรยาย
1) เชิงสำรวจ
2) เชิงความสัมพันธ์
3) เชิงศึกษาพัฒนาการ
2.5.2 การวิจัยเชิงอธิบาย (Explainatory research)
* มุ่งตอบปัญหาว่าอย่างไรและทำไมตัวอย่างอัตราของการติดยาเสพติดในกลุ่มอาชีพเป็นเชิงพรรณนาเหตุผลว่าทำไมคนบางกลุ่มติดยาเป็นเชิงอธิบาย
2.5.3 การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research)
* เน้นการใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลขยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบและข้อสรุปต่างๆ เป็นการวิจัยที่มีคุณภาพ
2.5.4 การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research)
* เน้นหารายละเอียดต่างๆ อย่างลึกซึ่ง โดยศึกษาไม่กี่หน่วย
*ไม่มุ่งเก็บตัวเลขมาวิเคราะห์ให้ได้คำตอบที่ใช้ได้อย่างกว้างขวาง อาจเรียกว่า"การวิจัยทางมานุษยวิทยา" หรือ "การวิจัยแบบเจาะลึก"
2.5.5 การวิจัยแบบตัดขวาง (Cross - sectional research)
* เก็บข้อมูลเพียงครั้งเดียวแล้ววิเคราะห์หาความแตกต่างหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆตัวอย่าง ศึกษาอัตราการวางแผนครอบครัว การยอมรับนวัตกรรม แบ่งเป็น
1) แบบตัดขวาง แบบง่าย (Simple cross - section research)
2 ) แบบทิ้งช่วง (Cross - section research with time lag)
* คือ เก็บข้อมูลครั้งเดียวแต่ตัวแปรมีมิติด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นตัวแปรตาม คือ การมีบุตรปีนี้ ตัวแปรอิสระคือ รายได้ในรอบ 5 ปีหรือของปีที่แล้ว
*ตัวแปรตามเป็นตัวแปรเกิดหลังจากตัวแปรอิสระ
2.5.6 การวิจัยระยะยาว (Longitudinal study)
*เป็นการวิจัยที่มีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 ครั้ง แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ มีหลายแบบ
เช่น เก็บตัวอย่างจากกลุ่มเดียวหลายครั้ง (Panel studies) หรือเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างทุกครั้ง (Successive sample)
2.5.5 และ 2.5.6 อาจเรียกว่าการศึกษาการเจริญเติบโตหรือ Growth study
2.5.7 การวิจัยกรณีศึกษา เลือกหมู่บ้าน อำเภอ แล้วศึกษาอย่างละเอียด ข้อจำกัดของผลการวิจัยคือ ไม่อาจใช้ได้อย่างกว้างขวาง

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัย
1.1 ความหมายของการวิจัย
คือ การหาความรู้ความจริง ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีการรวบรวมข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล วิเคราะห์และตีความหมายผลที่ได้จากกาiวิเคราะห์

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องของการวิจัย
* การกำหนดหัวข้อ การแจกแจงประเด็น การออกแบบการวิจัย การกำหนดประชากรเป้าหมาย กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล การวิเคราะห์และการตีความหมาย การเขียนรายงาน

โปรดสังเกต : ความหมายของ “ความรู้” “ความจริง” ดูหนังสือ “การวิจัยทางพฤติกรรม” เรื่องอื่นๆ ที่ควรศึกษาคือ ธรรมชาติของการวิจัย ความเชื่อพื้นฐานทางสังคม ลักษณะที่สำคัญของนักวิจัย

กระบวนการค้นหาความจริงมี 5 ขั้นตอน

1) จะต้องมีปัญหาและความต้องการในการตอบปัญหา
2) กำหนดขอบเขต ให้นิยามปัญหา เพื่อมุ่งหาคำตอบ
3) ตั้งสมมุติฐานเพื่อคะเนคำตอบ
4) กำหนดวิธีการทดสอบสมมุติฐาน
5) ทดสอบสมมุติฐาน

สรุป : คือระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์นั่นเอง
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1.2.1 เพื่อการแก้ปัญหา
1.2.2 สร้างทฤษฎี เพราะกฎเกณฑ์และทฤษฎีสามารถนำไป
ก) อ้างอิง (Generalization)
ข) อธิบาย (Explaination)
ค) ทำนาย (Prediction) และควบคุม (Control) ปรากฏการณ์ต่างๆ
1.2.3 เพื่อพิสูจน์ทฤษฎี เพราะเวลาเปลี่ยนไป กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป
1.3 ประโยชน์ของการวิจัย
- เกิดความรู้
- แก้ปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้องและยุติธรรม
- กำหนดนโยบายและวางแผนได้ถูกต้อง
- แก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน
- เสริมสร้างสมรรถนะของนักบริหารในการวินิจฉัยสั่งการ
สรุป : เกิดวิทยาการใหม่ แนวทางแก้ปัญหา กำหนดนโยบาย ท้ายสุดคือพัฒนาประเทศ
1.4 การวิจัยกับวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ คือ การแสวงหาความรู้ความจริง การวิจัย มีกระบวนการคล้ายคลึงกับกระบวนการของ ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์ คือมีขั้นตอน
1) ปัญหา เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถหาวิธีการที่จะให้ ความหมาย ลักษณะเหตุการณ์หรืออธิบายปรากฏการณ์นั้น
2) วิเคราะห์และนิยามปัญหา เพื่อให้ชัดเจนขึ้น
3) สร้างสมมุติฐาน หรือหาทางชี้แนะคำตอบของปัญหา
4) ให้เหตุผลเบื้องหลังสมมุติฐาน อาศัยทฤษฎีหรือความจริงต่างๆ ที่เคยค้นพบมาแล้ว
5) ทดสอบสมมุติฐาน โดยการปฏิบัติจริง ขั้นตอนนี้ผู้วิจัยจะค้นพบความจริงที่นำมาใช้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นได้
1.5 การวิจัยทางสังคมศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับ
1) จิตใจ พฤติกรรม ปรากฏการณ์ทางสังคม การอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรม อารยธรรม โดยศึกษาแนวทางที่ทำให้เกิดการพัฒนา เพื่อสันติสุขในสังคม
2) ปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การชุมนุมการรวมกลุ่มเกษตรกร พัฒนาหมู่บ้านร่วมกัน การดำเนินการร่วมกันทางเศรษฐกิจและสังคม การเมือง ศาสนา
3) สังคมศาสตร์ประกอบด้วยสาขาวิชา เช่น มนุษยศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
4) บางตำราสังคมศาสตร์ หมายรวมถึง
- มนุษยศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ บรรณารักษ์ศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา อักษรศาสตร์และอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน
- การศึกษา วิชาทางการศึกษา พลศึกษา ฯลฯ
- วิจิตรศิลป ได้แก่ วิชาทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ฯลฯ
- สังคมศาสตร์ ธนาคาร พานิช บัญชี รัฐศาสตร์ ฯลฯ
- นิติศาสตร์ เป็นต้น
สรุป : การวิจัย หมายถึง กระบวนการศึกษาค้นคว้าหาความจริงอย่าง มีระบบระเบียบแบบแผน โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ๆหรือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนากิจกรรมต่างๆตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

22 เม.ย. 2551

กลยุทธ์การดำเนินงานและการปฏิบัติงาน

กลยุทธ์การดำเนินงานหมายถึงวิสัยทัศน์และแผนระยะยาวเกี่ยวกับการแปรรูปปัจจัยนำเข้าให้เป็นผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการสำหรับลูกค้า ซึ่งเราสามารถอธิบายโดยใช้แบบจำลองกลยุทธ์การดำเนินงาน ซึ่งมีส่วนประกอบ 4 ประการคือ ภารกิจการดำเนินงาน ความสามารถเฉพาะ วัตถุประสงค์การดำเนินงานและนโยบายการดำเนินงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน นอกจากนี้ผู้กำหนดกลยุทธ์ยังต้องให้ความสำคัญกับสภาพแวล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์การ ตลอดจนการนำกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
กลยุทธ์การปฏิบัติการ (Operation strategy) เพื่อการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage) มีดังนี้
1. การกำหนดภารกิจและกลยุทธ์ (identifying mission and strategies)
2. การบรรลุข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการปฏิบัติการ (achieving competitive advantagethrough operations)
3. การตัดสินใจ 10 ประการในการบริหารการปฏิบัติการ (ten decisions of OM)
4. ประเด็นสำคัญในกลยุทธ์การปฏิบัติการ (issues in operations strategy)
5. การพัฒนากลยุทธ์และการปฏิบัติตามกลยุทธ์ (strategy development and implementation)
ภารกิจ (missions) เป็นงานพื้นฐานกิจกรรม และลักษณะงานขององค์การ โดยเป็นจุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐาน (basic purpose) และเป็นขอบเขตการปฏิบัติการ (scope of operations) ขององค์การ
กลยุทธ์การปฏิบัติการ (Operation strategy) เป็นแผนเพื่อการบรรลุวัติถุประสงค์การปฏิบัติการในสายผลิตภัณฑ์
บริษัทจะบรรลุภารกิจได้ 3 ทางคือ
1. การสร้างความแตกต่าง (differentiation)
2. ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (cost leadership)
3. การตอบสนองที่รวดเร็ว (quick response)
การบรรลุข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการปฏิบัติการ (achieving competitive advantage through operations) ประกอบด้วย
1. กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (differentiation strategies) : ความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ บริการ คุณภาพ และนวัตกรรม มีดังนี้ (ก) รูปร่างของผลิตภัณฑ์ (product features) (ข) การเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ (adding value to goods and services) (ค) คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือคุณภาพของบริการ (product quality or service quality) (ง) ภาพลักษณ์ที่พึงปรารถนา (desirable image) (จ) นวัตกรรม (innovation)
2. การแข่งขันด้านต้นทุน (Competing on cost)
3. การแข่งขันด้านตอบสนอง (Competing on response) มีดังนี้ (1) การตอบสนองด้วยความยืดหยุ่น (Flexible response) (ข) ความเชื่อถือได้ของการจัดตารางเวลาปฏิบัติการ (reliability of scheduling) (ค) ความรวดเร็ว (Quickness)
การตัดสินใจในการบริหารการปฏิบัติการ 10 ประการ (ten decisions of OM) มีดังนี้
1. ด้านคุณภาพ (quality)
2. การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ (product design)
3. การออกแบบกระบวนการ (process design)
4. การเลือกทำเลที่ตั้ง (location selection)
5. การออกแบบผังโรงงาน (layout design)
6. ทรัพยากรมนุษย์และการออกแบบงาน (human resources and job design)
7. การบริหารเครื อข่ายปัจจัยการผลิต (supply-chain management)
8. สินค้าคงเหลือ (inventory)
9. การกำหนดตารางการปฏิบัติการ (scheduling)
10. การบำรุงรักษา (maintenance)
ประเด็นปัญหาในกลยุทธ์การปฏิบัติการ (issues in operations strategy) จะต้องพิจารณา
1. การวิจัย (research) เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของกลยุทธ์การบริหารการปฏิบัติการ
2. ศึกษาสภาพก่อนหน้าการปฏิบัติการ (preconditions) ในการพัฒนาประสิทธิผลของกลยุทธ์การบริหารการปฏิบัติการ
3. การเคลื่อนไหว (dynamics) ในการพัฒนากลยุทธ์การบริหารการปฏิบัติการ กลยุทธ์จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ (ก) กลยุทธ์เคลื่อนไหวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ (changes within the organization) (ข) กลยุทธ์เคลื่อนไหวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม (changes in the environment)
การพัฒนากลยุทธ์และการปฏิบัติการ (strategy development and implementation) มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (environmental analysis)
2. การกำหนดภารกิจของบริษัท (determine corporate mission)
3. การกำหนดกลยุทธ์ (form strategy)
ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ (critical success factors : CSFs) จะกำหนดตามขอบเขตหน้าที่ในบริษัทดังนี้
1. การตลาด
2. การเงิน/การบัญชี
3. การผลิต/การปฏิบัติการ
การสร้างและการจัดหาคนเข้าทำงานขององค์การ (build and staff the organization) มีกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ
1. กำหนดกลยุทธ์และปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ (CSFs)
2. กำหนดกลุ่มกิจกรรมที่จำเป็นเข้าในโครงการสร้างขององค์การ
3. การบรรจุพนักงานด้วยบุคลากรที่เห็นว่าจะสามารถทำให้งานสำเร็จได้

19 เม.ย. 2551

การตลาด

การตลาด Marketing

ปัจจุบัน การตลาด (Marketing) มีความสำคัญต่อการบริหารองค์กรธุรกิจ และองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร (Non Profit Organization) ให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบริหารองค์กรทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคการค้าเสรี (Free Trade) ซึ่งการค้าและการลงทุนมีความเสรีและเปิดกว้างทางการตลาดมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) หรือในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีสาร สนเทศและระบบเครือข่าย Internet ซึ่งได้เพิ่มประสิทธิภาพของการติดต่อสื่อสารให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และพัฒนาเป็นระบบการค้าบนเครือข่าย Internet หรือธุรกิจ E-Commerce ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นช่องทางการตลาดที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าการค้าสูงนับเป็นแสนล้านบาทต่อปี ทั้งที่เริ่มแพร่หลายภายในเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น การตลาดจึงถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญที่จะนำองค์กรสู่ความสำเร็จภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในปัจจุบัน
ความหมายของตลาด การตลาด และส่วนประสมทางการตลาด
การตลาด ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน และมีผู้ให้ความหมายหรือนิยามของการตลาดไว้เป็นจำนวนมาก เช่น
Peter Drucker ให้ความหมายของการตลาด ดังนี้ "การตลาด คือความพยายามทำให้การขายขยายกว้างออกไป และด้วยความรวดเร็วที่สุด"
William J. Stanton ได้กล่าวไว้ว่า "การตลาด หมายถึง กิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมด ที่สามารถส่งผลกระทบระหว่างกันได้ เช่น การกำหนดราคา การจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการ และการส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า ทั้งในปัจจุบันและผู้ที่คาดว่าจะเป็นลูกค้าในอนาคต"
สมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Marketing Association: AMA) ให้ให้นิยามคำว่าการตลาดไว้ดังนี้ "การตลาด หมายถึง การกระทำกิจกรรมต่างๆในทางธุรกิจซึ่งทำให้สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคหรือผู้ใช้แล้วได้รับความพึงพอใจ ในขณะเดียวกันก็บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
Dr. Philip Kotler ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามของการตลาดว่า "การตลาด คือ กระบวนการทางสังคมและการจัดการที่ทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้รับสิ่งที่ตอบสนองความจำเป็น (needs) และความต้องการ (wants) โดยอาศัยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและนำไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่น”
ตลาด (Market) ประกอบด้วย
กลุ่มบุคคลหรือองค์กร
มีความจำเป็นหรือความต้องการ (Needs or Wants)
มีความเต็มใจในการแลกเปลี่ยนหรือมีความเต็มใจซื้อ (Willing to buy)
มีความสามารถในการแลกเปลี่ยน มีเงิน หรือ มีอำนาจซื้อ (Money to spend)
มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ เพื่อให้รับความพึงพอใจมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ (Authority to buy)
1. Needs, wants, demands
o Needs (ความจำเป็น)
เป็นอำนาจพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดความต้องการในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อมาตอบสนองในสิ่งที่ขาดหายไป แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
Physical needs คือ ความต้องการทางร่างกาย เช่น ปัจจัย 4 (อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรค) ความอบอุ่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
Social needs คือ ความต้องการทางสังคม เช่น การยอมรับ ความรักจากคนรอบข้าง
Individual needs คือ ความต้องการส่วนบุคคลซึ่งแตกต่างกัน เช่น ความต้องการศึกษาหาความรู้ การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง

Wants (ความต้องการ)
คือ สิ่งที่สามารถตอบสนอง Need ได้ ซึ่งความต้องการของคนแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สังคม และบุคลิกภาพส่วนบุคคล
Demands (ความต้องการซื้อ)
เป็นความต้องการในรูปของอำนาจในการซื้อ เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด แต่มีเงินจำกัด เพราะฉะนั้นจึงต้องเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและสามารถตอบสนองหรือสร้างความพึงพอใจสูงสุด

2. Products and services
คือ สิ่งที่ผู้ผลิตหรือนักการตลาดนำเสนอแก่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจ (attention) การซื้อ (acquisition) การใช้ (use) หรือการบริโภค (consumption) โดยผลิตภัณฑ์นั้นต้องสามารถตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของผู้บริโภค แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
สินค้า (Goods)
บริการ (Services)
บุคคล (Persons)
สถานที่ (Place)
องค์กร (Organizations)
แนวความคิด (Ideas) /Services (บริการ) คือ กิจกรรมหรือผลประโยชน์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนำเสนอแก่บุคคลอื่น โดยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ตัวอย่างเช่น บริการเสริมสวย ซ่อมรถ ทำความสะอาด หรือ บริการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
3. คุณค่า/ มูลค่า/ ความพึงพอใจ
l คุณค่า(Value) = คุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคได้รับ
l มูลค่าของผลิตภัณฑ์ = จำนวนเงินที่จ่ายเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์
l ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) เกิดขึ้นเมื่อ : คุณค่าที่ได้รับ > มูลค่าที่จ่าย
4. การแลกเปลี่ยน (Exchange)
Exchange (การแลกเปลี่ยน)
คือ การกระทำที่ทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการจากบุคคลอื่น โดยการเสนอสิ่งอื่นเป็นการตอบแทน (เช่น เงิน สิ่งของ หรือคำสัญญา เป็นต้น)
Transaction (การทำธุรกรรม)
เป็นการทำการค้าระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยมีลักษณะดังนี้
ต้องมี 2 สิ่งที่มีคุณค่า
มีข้อตกลงหรือเงื่อนไข
มีระยะเวลาของการตกลง
มีสถานที่ในการตกลง
Relationships marketing (การสร้างความสัมพันธ์ทางการตลาด)
กระบวนการสร้าง รักษา และการเพิ่มสัมพันธภาพกับลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พนักงาน ผู้ป้อนปัจจัยการผลิต ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าปลีก ธนาคาร รัฐบาล ชุมชน เป็นต้น
5. ตลาด/ตลาดเป้าหมาย
l ในความหมายของบุคคลทั่วไป ๆ
ตลาด : สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย
l ในความหมายของทางธุรกิจ
ตลาด : กลุ่มบุคคลที่คิดว่าจะซื้อสินค้า หรือความต้องการของผู้ซื้อกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจซื้อ
l ตลาดเป้าหมาย (Target Markets) : กลุ่มลูกค้าซึ่งผู้ขายเลือกที่จะเสนอขายสินค้า
ระบบการตลาด
l องค์ประกอบสำคัญในระบบการตลาด คือ บริษัทและตลาด ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยการเคลื่อนย้ายของสิ่งสำคัญ 4 ประการ คือ
1. สินค้าและบริการ
2. การสื่อสารไปสู่ตลาด
3. จำนวนเงินที่มาสู่บริษัท
4. ข้อมูลที่บริษัทได้รับ

เงินหรือสิ่งมีค่าใช้แลกเปลี่ยน
สินค้าและบริการ

ส่วนประสม
การตลาด (4 P’s)

กิจกรรมการตลาด
การสื่อสาร
ผู้บริโภค /
ผู้ซื้อ
ผู้ผลิต /
ผู้ขาย

ลักษณะของอุปสงค์ 8 แบบที่แตกต่างกัน
อุปสงค์เป็นลบ (Negative demand)
ไม่มีอุปสงค์ หรืออุปสงค์เป็นศูนย์ (No demand)
อุปสงค์แอบแฝง (Latent demand)
อุปสงค์ถดถอย (Faltering demand)
อุปสงค์ไม่สม่ำเสมอ (Irregular demand)
อุปสงค์เต็มขั้น (Full demand)
อุปสงค์ล้นเหลือ (Overfull demand)
อุปสงค์ที่ไม่มีประโยชน์ (Unwholesome demand)

1. ลักษณะอุปสงค์เป็นลบ
หมายถึง สถานการณ์ที่กลุ่มตลาดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนตลาดไม่ชอบผลิตภัณฑ์หรือบริการ และพยายามที่จะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นั้น
เป็นหน้าที่ของนักการตลาดที่จะวางแผนเปลี่ยนแปลงความต้องการที่เป็นลบให้เป็นบวก หรือเปลี่ยนจากการ “ไม่ชอบ” เป็น “ชอบ” สินค้านั้น ซึ่งจะเรียกงานการตลาดนี้ว่า การตลาดผกผัน
2. ไม่มีอุปสงค์ หรืออุปสงค์เป็นศูนย์
หมายถึง ตลาดไม่มีความต้องการหรือสนใจสินค้าที่เสนอ แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ
2.1 สินค้านั้นเป็นของไม่มีคุณค่า
2.2 สินค้านั้นเป็นของที่ไม่มีค่าในบางตลาด
2.3 สินค้านั้นเป็นสินค่าที่ตลาดไม่รู้จักคุณค่า หรือเป็นสินค้าที่ถูกค้นคิดขึ้นใหม่ คนจึงยังไม่รู้จักคุณค่า
ดังนั้น จึงเป็นงานของนักบริหารการตลาดที่จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ซึ่งเรียกว่า ตลาดเพื่อการกระตุ้น แม้ว่าจะเป็นงานไม่ง่าย แต่สามารถจะทำได้ ดังนี้
1. พยายามทำให้สินค้านั้นเป็นที่ต้องการในตลาดนั้น
2. เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งนั้นมีค่าแก่สภาวะแวดล้อม
3. พยายามกระจายและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความต้องการ
3. อุปสงค์แอบแฝง
หมายถึง กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมีความต้องการบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่มีในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักการตลาดที่จะคิดค้นการผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ แต่ยังไม่มีใครริเริ่ม
นั่นคือ งานของนักการตลาดต้องพยายามทำให้ความต้องการที่แฝงอยู่เป็นความจริงขึ้นมา โดยการพัฒนาเรียกว่า การตลาดเพื่อพัฒนา (Developmental Marketing)

4. อุปสงค์ถดถอย
เป็นลักษณะความต้องการที่มีระดับน้อยลงกว่าเดิมและกำลังจะเริ่มตกลงทุกทีๆ
นักการตลาดต้องทำการตลาดมุ่งฟื้นอุปสงค์ (remarketing) คือ พยายามฟื้นฟูช่วงชีวิตของสินค้า โดยการหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ
5. อุปสงค์ที่ไม่สม่ำเสมอ
เหตุผลที่อุปสงค์มีลักษณะไม่แน่นอนนี้อาจจะเป็นเพราะฤดูกาล หรือความผันผวน
งานของนักการตลาด คือ พยายามแก้อุปสงค์ที่ผิดปกตินี้ โดยการพยายามทำให้อุปสงค์ และอุปทานพอเหมาะกัน
6. อุปสงค์เต็มขั้น
หมายถึง ตลาดมีความต้องการมากพอตามระดับที่ต้องการ ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ขายพอใจ
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่านักการตลาดจะอยู่นิ่งเฉย เพราะความต้องการตลาด หรืออุปสงค์ขึ้นอยู่กับแรงผลัก 2 ประการ คือ
1. ความต้องการและรสนิยมในตลาดเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
2. คู่แข่งขันที่กระตือรือร้น เมื่อขายสินค้าดี ย่อมมีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดอย่างรวดเร็วและพยายามดึงเอาระดับความต้องการจากบริษัทออกไป
งานของนักการตลาด คือ การรักษาระดับการตลาด พยายามรักษาประสิทธิภาพของกิจกรรมการตลาดวันต่อวัน
7. อุปสงค์ล้นเหลือ
หมายถึง อุปสงค์ที่เกินระดับที่นักการตลาดจะสามารถเสนอสนองให้ได้ ดังนั้นจึงอาจทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าชั่วคราวได้ เมื่อผู้ผลิตเผชิญกับระดับความต้องการที่ไม่คาดคิด
งานของนักการตลาด คือ พยายามลดความต้องการส่วนเกินซึ่งเรียกว่า การชะลอความต้องการของตลาด คือไม่กระตุ้นลูกค้าให้เกิดความต้องการ
8. อุปสงค์ที่ไม่มีประโยชน์
หมายถึง ความต้องการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพราจะทำให้สุขภาพของประชาชนแย่ลง หรือสินค้านั้นมีคุณภาพไม่ดีพอ
งานของนักการตลาด คือ พยายามทำลายความต้องการนั้นเสีย คือ ถ้า บริษัทของเราขายสินค้าอยู่ก็ควรจะเลิกขาย เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่ชอบ

ปรัชญาในการบริหารการตลาด
การเรียนรู้หลักการบริหารการตลาด ควรทำความเข้าใจถึงปรัชญาหรือแนวความคิดในการบริหารการตลาด ที่ได้มีการจัดแบ่งออกเป็น 5 แนวความคิด ดังนี้
แนวคิดเน้นการผลิต (Production Concept)
ผู้ผลิตสินค้าให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการผลิต (Productivity) ให้สินค้าที่ผลิตได้มีจำนวนมากภายใต้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด เพื่อให้การจำหน่ายสามารถจำหน่ายได้ในราคาต่ำ เพราะในช่วงเวลานั้นผู้บริโภคจะพิจารณาซื้อสินค้าจากปัจจัยด้านราคา มากกว่าคุณภาพหรือรูปแบบของสินค้า
แนวคิดเน้นผลิตภัณฑ์ (Product Concept)
เป็นช่วงต่อเนื่องจากแนวคิดเน้นการผลิต เพราะเกิดผู้ผลิตหรือคู่แข่งขันในตลาดจำนวนมาก ทั้งยังสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น ในขณะที่สินค้าจากผู้ผลิตแต่ละรายไม่มีข้อแตกต่างด้านราคาจำหน่ายมากนัก ผู้บริโภคจึงเริ่มตระหนักถึงคุณภาพมากกว่าเดิม เช่น รถยนต์จะต้องมีความทนทาน และเร็วขึ้น หรือวิทยุ ที่จะต้องรับสัญญาณได้ มีคุณภาพเสียงชัดเจนขึ้น เหล่านี้เป็นต้น ผู้ผลิตจึงหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อสร้างข้อแตกต่างให้กับสินค้าของตนในตลาด
แนวคิดเน้นการขาย (Selling Concept)
เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นต่อเนื่องจากแนวคิดที่เน้นผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหายอดขายตกต่ำ ทั้งๆ ที่สินค้ามีคุณภาพ จึงเน้นที่การขายโดยพนักงานขายเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าที่เสนอขายนั้นๆ และสามารถเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ผลิตได้อย่างมาก การขายจึงเฟื่องฟูในยุคดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตาม การขายได้เริ่มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตามสัดส่วนความเชื่อถือที่ผู้บริโภคมีต่อพนักงานขาย ซึ่งเป็นเพราะความต้องการขายของพนักงานขายในอันที่จะพยายามขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้มากกว่าคู่แข่งขัน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและปัจจัยอื่นๆ ของสินค้ากับความจำเป็นและต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงสร้างความไม่พอใจและเป็นทัศนคติในด้านลบที่ผู้บริโภคมีต่อพนักงานขายอย่างมาก


แนวคิดเน้นการตลาด (Marketing Concept)
แนวคิดนี้เกิดขึ้นภายหลังแนวคิดด้านการขายตกต่ำลง และถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ กล่าวคือ ไม่ได้เริ่มต้นที่การผลิตสินค้าแล้วจึงคิดหาช่องทางจัดจำหน่ายออกไปดังเช่นยุคต่างๆ ที่ผ่านมา แต่จะเริ่มต้นจากการศึกษาและวิเคราะห์ถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้รับมาดำเนินการผลิตสินค้า เพื่อสร้างความพอใจสูงสุดแก่ผู้บริโภคภายใต้ผลตอบแทนในรูปของกำไรสูงสุดที่องค์กรจะได้รับและในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าว ยังคงถือเป็นแนวคิดหลักของการดำเนินธุรกิจทั่วไป
แนวคิดการตลาดเพื่อสังคม (Societal Marketing Concept)
เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นจากความเห็นว่าการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและผลกำไรสูงสุดขององค์กรเท่านั้น ไม่ถือเป็นแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพราะการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด สามารถที่จะสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น กระตุ้นให้เกิดการบริโภคอย่างไร้เหตุผล เกิดการแบ่งชนชั้นภายในสังคม เกิดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลร้ายต่อสังคมในระยะยาวอย่างยิ่ง ผู้บริหารการตลาดในปัจจุบัน จึงควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมควบคู่ไปกับการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และวัตถุประสงค์ขององค์กร

ความสำคัญของการตลาด เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสำคัญของการตลาด จึงได้แบ่งเป็นระดับต่างๆ ดังนี้
1. ความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม
- การตลาดสร้างความต้องการซื้อ
- การตลาดช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
- การตลาดทำให้เกิดการหมุนเวียนปัจจัยการผลิต
- ทำให้เกิดการจ้างงาน ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดปัญหาสังคม
2. ความสำคัญต่อธุรกิจหรือองค์การ
- การตลาดเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้และกำไรให้บริษัท
- เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ
- การตลาดเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
- ช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยการประหยัดจากการผลิตจำนวนมาก (Economies of Scales)
- การแข่งขันทางการตลาดทำให้เกิดการพัฒนา สินค้าใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ตลอดเวลา
3. ความสำคัญต่อบุคคล
- ทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจเป็น
- การสร้างอรรถประโยชน์ (Utility) ให้กับผู้บริโภค
- สร้างอาชีพให้บุคคล
- ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขี้น
- ทำให้ผู้บริโภคได้รับข่าวสารการตลาด และมี ความรู้เกี่ยวกับสินค้าเพิ่มขึ้น
ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix)
คือ เครื่องมือทางการตลาดที่กิจการต้องใช้เพื่อการสนอง ความต้องการของลูกค้า ทำให้เกิดความพอใจ โดยจะ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ หรือ 4P’s
1. ผลิตภัณฑ์ (Product)
2. ราคา (Price)
3. การจัดจำหน่าย (Place)
4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion)

แนวโน้มของการตลาดในศตวรรษที่ 21
l การแข่งขัน (กระแสโลกาภิวัฒน์)
l นโบายของรัฐบาล
l การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก
l การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ
l กระแสการเรียกร้องด้านจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากทรัยกรมีจำกัด

18 เม.ย. 2551

โปรแกรมเชิงเส้นตรง (linear Programming)

เป็นเทคนิคเชิงปริมาณอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในการดำเนินงานของธุรกิจปัจจุบัน
เป็นตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่สร้างขึ้นแทนปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสอดคล้องกับเงื่อนไขที่มีอยู่ในปัญหานั้นๆ โดยที่ความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ในเป้าหมายและในเงื่อนไขของปัญหาจะอยู่ในรูปเส้นตรง

ลักษณะปัญหาที่ใช้การกำหนดโปรแกรมเชิงเส้นตรง
ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เกี่ยวกับปัญหาด้านการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น วัตถุดิบ แรงงาน เงิน เวลา สถานที่ เป็นต้น
มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเสียค่าใช้จ่ายต่ำสุด
เราสามารถนำโปรแกรมเชิงเส้นตรงไปใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผน และการตัดสินใจ ในหน้าที่หลักทางการบริหารทุกด้าน

ตัวอย่าง บริษัท ก. ต้องเลือกทำการผลิตวิทยุ โดยเลือกวิธีการผลิตระหว่าง ซื้อเครื่องจักรราคาเครื่องละ 250,000 บาท ซึ่งสามารถผลิตเสื้อวิทยุได้จำนวน 50,000 เครื่องต่อวัน กับจ้างพนักงานวันละ 220 บาทต่อวัน ซึ่งพนักงานหนึ่งคนสามารถ ผลิตวิทยุได้ 40 เครื่อง/คน/วัน คำถาม คือ บริษัท ก. ควรเลือกวิธีการผลิตด้วยวิธีใด เพื่อจะมีต้นทุนต่อเครื่องต่ำที่สุด

ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย
กรณีเครื่องจักรต้นทุนการผลิตต่อเครื่อง 50,000X = 250,000 หรือ = 5 บาทต่อเครื่อง

กรณีแรงงานต้นทุนการผลิตต่อเครื่อง 40Y = 240 หรือ = 6 บาทต่อเครื่อง

*** เลือกลงทุนด้วยการซื้อเครื่องจักร

สมมติฐานของโปรแกรมเชิงเส้น
ความแน่นอน (certainty) หมายความว่าต้องทราบข้อมูลต่างๆแน่นอน เช่น จำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ กำไรต่อหน่วย ต้นทุนต่อหน่วย
แบ่งแยกได้ (divisibility) หมายความว่าตัวแปรทุกตัวในโปรแกรมเชิงเส้นสามารถมีความเป็นเศษส่วนหรือเป็นทศนิยมได้
มีความเป็นสัดส่วน (proportionality) หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงค่าตัวแปรจะมีผลกระทบที่แน่นอน ทั้งในฟังก์ชันวัตถุประสงค์และในฟังก์ชันเงื่อนไขบังคับ

เช่น บริษัทพัฒนาอุตสาหกรรม ผลิตวิทยุแบบมาตรฐานได้กำไรเครื่องละ 250 บาท ถ้าผลิต 2 เครื่องได้กำไร (250x2) และผลิตวิทยุแบบพิเศษได้กำไรเครื่องละ 290 บาท ถ้าผลิต 10 เครื่องได้กำไร (290x10)

บวกเข้าด้วย (addibility) หมายความว่าผลรวมได้มาจากการบวกกันของกิจกรรมต่างๆ

เช่น กำไรรวมจากการผลิตวิทยุของบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรม คือ กำไรจากการผลิตวิทยุแบบมาตรฐาน 250X1 กำไรจากการผลิตวิทยุแบบพิเศษ 290 X2

ดังนั้นกำไรรวม (Z) = 250X1 + 290 X2

ตัวแปรไม่ติดลบ (nonnegativity) ตัวแปรทุกตัวแปรมีค่าไม่ต่ำกว่า 0

โครงสร้างของโปรแกรมเชิงเส้น
ตัวแปรที่ต้องตัดสินใจ (decision variable) ได้แก่ สิ่งที่ต้องการหาผลลัพธ์ มักนิยมให้เป็นตัวอักษร เช่น X1 , X2 หรือ A, B, C
ฟังก์ชันวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของโปรแกรมเชิงเส้นจะมีวัตถุประสงค์เดียว ซึ่งอยู่ในรูปของเป้าหมายการหาค่าสูงสุด (maximize) และต่ำสุด (Minimize) เช่น การทำกำไรให้สูงที่สุด ยอดขายที่สูงที่สุด ต้นทุนที่ต่ำที่สุด เป็นต้น โดยเขียนอยู่ในรูปของฟังก์ชันวัตถุประสงค์

รูปแบบของฟังก์ชันวัตถุประสงค์

Maximize Z = C1X1 + C2X2+C3X3+C4X4
หรือ Minimize Z = C1X1 + C2X2+C3X3+C4X4

ในกรณีของบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรม สามารถเขียน ฟังก์ชันวัตถุประสงค์ ได้ดังนี้
Maximize Z = 250X1 + 290 X2

เงื่อนไขบังคับ (constraints) คือ สมการหรืออสมการที่แสดงขีดจำกัดในด้านทรัพยากร ความต้องการ หรือเงื่อนไขของปัญหาต่างๆ

ในกรณีของบริษัทผลิตวิทยุ เวลาที่ใช้ในการผลิตวิทยุแบบธรรมดาเท่ากับ 20 นาทีต่อเครื่อง เวลาในการผลิตวิทยุแบบพิเศษเท่ากับ 30 นาทีต่อเครื่อง โดยมีเวลาในการประกอบทั้งหมด 55 ชั่วโมง หรือ 3,300 นาที ซึ่งสามารถเขียนเงื่อนไขบังคับ ได้ดังนี้
20X1 + 30X2 ≤ 3,300

ข้อจำกัด (restriction) แสดงถึงเงื่อนไขของผลลัพธ์ที่ได้ว่าค่าตัวแปรที่ต้องตัดสินใจ (decision variables) ทุกตัวต้องไม่ติดลบ

แผนก แบบมาตรฐาน แบบพิเศษ
ประกอบ (3,300) 20 30
ทดสอบ (1,080) 10 6
บรรจุ (360) 3 3


โปรแกรมเชิงเส้นตรงที่แสดงถึงปัญหาของบริษัทพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด เขียนได้ดังนี้
Maximize Z = 250X1 + 290 X2
Subject to :
20X1 + 30X2 ≤ 3,300
10X1 + 6X2 ≤ 1,080
3X1 + 3X2 ≤ 360
X1, X2 ≥ 0

17 เม.ย. 2551

บทนำสู่การบริหารการผลิตและการปฏิบัติการ

บทที่ 1
บทนำสู่การบริหารการผลิตและการปฏิบัติการ
บทสรุป
การผลิตและการดำเนินงานเป็นหน้าที่สำคัญที่มีอยู่ในทุกองค์การซึ่งผู้บริหารต้องให้ความสนใจ เพราะการดำเนินงานจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างรายได้และการดำรงอยู่ของธุรกิจ โดยเราสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าการดำเนินงานเป็นกระบวนการแปรรูปปัจจัยนำเข้า เช่น แรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน ให้กลายเป็นผลลัพธ์ในรูปของสินค้าและ/หรือบริการ โดยทั้งสินค้าและบริการต่างมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น ความทนทาน พื้นที่ในการจัดเก็บ และระยะเวลาในการตอบสนอง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การผลิต (Production) เป็นการสร้างสินค้าและบริการ
การปฏิบัติการ (Operation) เป็นกระบวนการภายในองค์การซึ่งใช้ปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น คน เงินทุน วัตถุดิบ ฯลฯ และแปรรูปปัจจัยนำเข้าเหล่านั้นให้เป็นปัจจัยนำออก (Output) ในรูปของสินค้าและบริการ
การบริหารการผลิต (Production management) เป็นการวางแผนและการตัดสินใจเพื่อการผลิตสินค้า
การบริหารการปฏิบัติการ (Operation Management : OM) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ โดยผ่านกระบวนการแปรสภาพ (transformation) จากปัจจัยนำเข้า (input) เพื่อให้ออกมาเป็นปัจจัยนำออก (output) หรือเป็นการออกแบบ (design) การปฏิบัติการ (operations) และการปรับปรุงระบบการผลิต (Production system improvement)
ระบบการผลิต (Production system) เป็นระบบซึ่งเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้า (input) ออกมาเป็นกลุ่มของปัจจัยนำออก (output) ที่ต้องการ
ปัจจัยนำเข้า (Input) เป็นทรัพยากรการผลิต (Production resources) หรือทรัพยากรการปฏิบัติการ (Operation Resources) ประกอบด้วย 5 ประการ
1. คน (People) หมายถึง กำลังแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. โรงงาน (Plant)
3. ชิ้นส่วน (Parts)
4. กระบวนการ (Processes)
5. ระบบการวางแผนและการควบคุม (Planning and control system)
การบริหารการปฏิบัติการเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญ 3 ประการขององค์การ ซึ่งประกอบด้วย
1. การผลิต (Production) / การปฏิบัติการ
2. การเงิน (Finance) / บัญชี (accounting)
3. การตลาด (Marketing) / การขาย (Selling)
งานของผู้บริหารการปฏิบัติการ (Operation manager’s job) ผู้บริหารที่ดีจะกระทำหน้าที่พื้นฐานในกระบวนการทางการบริหาร (management process) ประกอบด้วย
1. การวางแผน (Planning)
2. การจัดองค์การ (Organizing)
3. การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing)
4. การชักนำ (Leading)
5. การควบคุม (Controlling) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การจัดองค์การเพื่อผลิตสินค้าและบริการ (Organizing to produce and services) ในการผลิตสินค้าและบริการ ควรมีการจัดองค์การเพื่อทำหน้าที่ 3 ประการ คือ
1. การผลิต (Production) / การปฏิบัติการ
2. การเงิน (Finance) / บัญชี (Accounting)
3. การตลาด (Marketing)
อาชีพการปฏิบัติการจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ 10 ประการ มีดังนี้
1. งานในสาขาด้านเทคโนโลยี / วิธีการต่าง ๆ (Technology / methods)
2. การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก / การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ (Facilities / space)
3. งานด้านการใช้กลยุทธ์ (Strategic issues)
4. งานที่เกี่ยวกับเวลาที่ใช้ (Response time)
5. งานเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคล / ทีมงาน (People / team development)
6. งานการบริการลูกค้า (Customer service)
7. งานด้านคุณภาพ (Quality)
8. งานการลดต้นทุน (Cost reduction)
9. งานการลดสินค้าคงเหลือ (Inventory reduction) และการบริหารเครือข่ายปัจจัยการผลิต (Supply-chain management)
10. งานการปรับปรุงด้านการเพิ่มผลผลิต (Productivity improvement)
การปฏิบัติการในส่วนของงานบริการ (Operation in the service sector) การบริการ (service) เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจซึ่งผลิตสินค้าที่ไม่มีตัวตน เช่น การศึกษา ความบันเทิง การเช่า การบริหารงานของรัฐบาล การเงิน การบริการด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ การประกัน การซ่อม และการบำรุงรักษา เป็นต้น
ผลผลิต (Productivity) เป็นจำนวนผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตได้จากการใช้ทรัพยากรจำนวนหนึ่ง
การวัดผลผลิต (Productivity measurement) เป็นการวัดมูลค่ารวมของปัจจัยนำออกที่เกิดจากกระบวนการแปรสภาพหารด้วยต้นทุนรวมของปัจจัยนำเข้า มีดังนี้
1. การวัดผลผลิตแบบปัจจัยเดี่ยว (Single factors productivity)
2. การวัดผลผลิตแบบหลายปัจจัย (Multi factors productivity)
ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต (Productivity variables) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวัดความสามารถในการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งเป็นอัตราส่วนของปัจจัยนำเข้าต่อปัจจัยนำออก ซึ่งแสดงผลผลิตที่จะขึ้นอยู่กับตัวแปรดังต่อไปนี้
1. แรงงาน (Labor)
2. ทุน (Capital)
3. การบริหาร (Management)

24 มี.ค. 2551

ทัศนคติ-ความสัมพันธ์ บันไดความสำเร็จ Sales Talent

ทัศนคติ-ความสัมพันธ์ บันไดความสำเร็จ Sales Talent

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

"เพียงแค่คุณเชื่อมั่นในตัวเองว่า คุณคือสินค้าที่ดีที่สุดในโลก คุณก็จะประสบความสำเร็จในอาชีพได้อย่างมั่นคง"

สิ่งที่ "โจ จีราร์ด" เขียนไว้ในหนังสือ ยอดนักขายบันลือโลก อาจโดนใจหลายคน แต่ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้ก้าวไปให้ถึงจุดนั้น

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "คม สุวรรณพิมล" เจ้าของหนังสือ best seller ด้านการพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ ได้หอบความรู้ เคล็ดลับดีๆ ในการก้าวสู่ sales talent มา coach ให้เซลส์ที่ต้องการก้าวสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ฟัง

หัวใจสำคัญของการก้าวสู่ sales talent ที่โค้ชคมเน้นย้ำอย่างมากในงานสัมมนา ครั้งนี้คือ เรื่องการสร้างทัศนคติที่ดีและการสร้างห่วงโซ่ความสัมพันธ์

"คม" ได้หยิบผลสำรวจของนโปเลียน ฮิลล์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเล่มแรกของโลก เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้มีคุณสมบัติอย่างไร จึงสามารถก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าได้อย่างสง่างาม

โดยหลักๆ คนที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.ต้องมีเป้าหมายในการทำงานที่แน่นอน 2.มีความเชื่อมั่นในตัวเอง 3.มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

เมื่อหันมาดูเซลส์ จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ?

ขั้นแรกคงต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมา

จากผลการสำรวจพบว่า เซลส์ 82% ไม่สร้างความแตกต่างของตนเองได้

86% เซลส์มักถามคำถามผิด

82% เซลส์เห็นราคาเป็นเรื่องสำคัญ จึงใช้วิธีลดราคา

เมื่อปัญหาของเซลส์เป็นเช่นนี้ จะขายสินค้าอย่างไร ?

"คม" ให้นิยามการขายของเซลส์ว่า จะต้องเป็นผู้นำคุณค่าไปให้ผู้บริโภค ไม่ใช่นำสินค้าไปให้ผู้บริโภค ฉะนั้นสิ่งที่เซลส์ จะต้องรู้ คือ สินค้าในมือมีคุณค่าอะไรต่อลูกค้า แล้วนำคุณค่านั้นไปให้ลูกค้า

ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ แทนที่เซลส์จะไปบอกลูกค้าว่า โทรศัพท์รุ่นนี้ราคาเท่าไหร่ ปุ่มไหนทำงานอย่างไรบ้าง จะต้องบอกลูกค้าเสมือนลูกค้าได้เป็นเจ้าของสินค้านั้นแล้ว เช่น คุณจะไม่พลาดการติดต่อในทุกๆ สถานที่ แม้ว่าจะอยู่หลังเขาก็ตาม เมื่อลูกค้าได้ฟัง เขาจินตนาการตามไปเรื่อยๆ แล้วจะมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ

หากจะถามว่า คุณค่าของสินค้าคืออะไร คำตอบคือสิ่งที่อยู่ในใจของลูกค้านั่นเอง

"การบอกเล่าคือการขาย แต่ถ้าต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า จะต้องถาม"

เคล็ดลับการขายโดยใช้วิธีตั้งคำถาม หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยิน แต่ "คม" บอกว่า วิธีการนี้จะทำให้ลูกค้าลืมเรื่องราคาไปเลย เพราะคุณค่าที่ลูกค้าได้รับนั้นสูงกว่าราคา

เพราะฉะนั้นถ้าสามารถสร้างคุณค่าให้กับสินค้าได้เยอะ ราคาอาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าเลยก็เป็นได้

แต่อย่างไรตามการจะนำเสนอคุณค่าของสินค้าให้ประสบความสำเร็จคงต้องอาศัยพื้นฐานของเซลส์ที่ดีประกอบ

เซลส์ที่ประสบความสำเร็จกว่า 90% มีทัศนคติทางบวก ฉะนั้นสิ่งที่เซลส์ต้องพัฒนาอันดับแรก คือ ทัศนคติ ซึ่งต้องสร้างจากภายใน เพราะถ้าไม่มีภายในใจแล้วก็จะไม่ปรากฏออกมาภายนอก

"คนที่มีทัศนคติทางบวกจะมองเห็นแต่โอกาส ขณะที่คนที่มีทัศนคติทางลบจะมองเห็นแต่ปัญหา สุดท้ายการขายก็ล้มเหลว"

การเปลี่ยนทัศนคติคงไม่สามารถทำได้ ชั่วข้ามคืน แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ถ้าสามารถทำได้ก็จะเปลี่ยนชีวิตจากที่เคยเป็นคนโชคร้าย มาเป็นคนโชคดีได ้ไม่ยาก

โดยสิ่งที่ต้องทำ คือต้องหยุดกล่าวโทษเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต หยุดกล่าวโทษผู้อื่น หันมาทำความรู้จักลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น

ยืนหยัดจนกว่าจะได้รับคำตอบ

และทำงานอย่างเต็มที่

สุดท้ายสำคัญมาก ต้องคิด ก่อนพูด

"คนที่มีทัศนคติที่ดี หากเจอสถานการณ์ที่ลูกค้าเดินเข้ามาต่อว่า เขาจะกล่าวคำว่า ขอบคุณ แล้วถามตัวเองต่อว่า ฉันจะทำในสิ่งนี้ให้ดีได้อย่างไร จากนั้นหาทางพัฒนา ตัวเองต่อไป"

นี่คือเคล็ดลับในการมองปัญหาที่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้คลี่คลายไปในทางที่ดีได้ เพราะเมื่อมองความล้มเหลว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเหตุการณ์ไม่ใช่ตัวบุคคล การแก้ไขก็จะง่ายมากขึ้น

"คม" บอกว่า คนที่สนใจในความสำเร็จจะต้องเรียนรู้ที่จะมองความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของกระบวนการก้าวสู่ความเป็นสุดยอด ฉะนั้นถ้าอยากเป็นเซลส์ที่ดีจะต้องพัฒนาทัศนคติ และฝึกพูดคำเหล่านี้ให้ติดปาก นั่นคือ เยี่ยม ไม่มีปัญหา เป็นปัญหาที่ดี ใช่เลย เด็ดมาก ผมคิดว่าเราช่วยคุณได้

ถ้าเซลส์ทุกคนเข้าใจความเป็นจริง จะรู้ว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ทัศนคติที่ดีคือ คอนเน็กชั่นหรือความสัมพันธ์ที่ดี เพราะประมาณ 50% ของความสำเร็จในการขายได้มาจากมิตรภาพที่ดี

ซึ่งในหนึ่งคนสามารถสร้างคอนเน็กชั่นได้ลึกถึง 6 ระดับ

วิธีสร้างคอนเน็กชั่นมีด้วยกัน 2 รูปแบบ

แบบแรก คือ การสร้างคอนเน็กชั่นแบบตัวต่อตัว ทำอย่างไรให้ลูกค้าคุยกับคุณ

จากจุดนี้จะเห็นว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า "คุณรู้จักใคร" แล้ว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า "ใครรู้จักคุณ"

กลยุทธ์ในการสร้างความสัมพันธ์ฉบับอาจารย์คมบอกไว้ว่า ต้องเริ่มต้นด้วย

ความเป็นมิตร กำหนดภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ระดับหนึ่ง เวลาคุย ต้องมองตาเพื่อสร้างความนับถือ ที่สำคัญ ต้องมีทัศนคติเชิงบวกเพื่อที่จะทำ ให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นบวก และให้ความสนใจคนอื่น ก่อนให้คนอื่นสนใจในตัวเอง

ฉะนั้นก่อนที่จะสร้างคอนเน็กชั่นจะต้องหาคุณค่าในตัวเองให้เจอก่อน แล้วนำคุณค่านั้นไปมอบให้คนอื่น จะทำให้ตัวเอง ดูดี แล้วคุณค่านี้จะได้รับการบอกต่อไปยังเพื่อนใหม่อีก 6 คน

แบบที่สอง คือ การสร้างเครือข่าย ตรงนี้ทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับข้อหนึ่งคือ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 75% ในการพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และต้องเตรียมพร้อมก่อนที่จะปรากฏตัวเพื่อสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะไปงานสัมมนา งานประชุมธุรกิจ หรือแม้แต่การประชุมสมาคมผู้ปกครอง ดูหนัง ดูละคร เซลส์มืออาชีพสามารถสร้างเครือข่ายได้หมด เพียงแต่ว่าจะเอาคุณค่าอะไรในตัวเองไปบอกกับคนอื่น

ฉะนั้นวันนี้ใครอยากประสบความสำเร็จในอาชีพเซลสต้องหา "คุณค่า" ในตัวเอง ให้เจอ

19 มี.ค. 2551

SocialNetworking

เวลานี้ถ้าใครไม่เล่น hi5 คงต้องเรียกว่า "เชย" มีการประเมินกันแล้ว มีคนไทยเล่น hi5 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน (หลังจากปิดต้นฉบับยอดอาจเพิ่มมากกว่านี้แล้ว) ข่าวล่าสุดยังแจ้งอีกว่า คนไทยเข้าเว็บ hi5 มากที่สุด แซงหน้า Google ซึ่งเคยครองอันดับ 1 ไปแล้ว

ถึงกับมีการแบ่งการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเมืองเวลานี้ ออกเป็น 4 ช่วง คือ กิน พักผ่อน ทำงาน เวลาที่เหลือเป็นของ hi5

เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่เล่น hi5 เป็นเพราะรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียว มีเพื่อนอยู่ด้วยตลอดเวลา พอว่างก็เข้าไปโพสต์รูป เขียนทักทาย หรือคอมเมนต์เพื่อนๆ เป็นเครือข่ายที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ มีเพื่อนใหม่ๆ มาให้รู้จัก และบางครั้งไปเจอเพื่อน หรือแฟนเก่าสมัยเรียนประถมหรือมัธยม ก็มาเจอกันใน hi5

ใช่จะมีเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้นที่นิยม hi5 หลายคนที่เล่นเป็นคนทำงาน เป็นผู้บริหาร ดูอย่างคุณ "นพพร วิฑูรชาติ" ซีอีโอ สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ก็เล่น hi5 มา 3 ปี คุณนพพร เล่าว่า ส่วนใหญ่เล่นกับลูกน้องในที่ทำงาน และเพื่อนที่สนิทกันจริงๆ

ที่น่าสนใจก็ คือ อาการฮิตติด hi5 ไปโดนใจนักการตลาด นักโฆษณาเข้าอย่างจัง ด้วยโปรไฟล์ข้อมูล อายุ เพศ การศึกษา เป็นข้อมูลพื้นฐานชั้นดีให้กับสินค้าและบริการ และเครือข่ายสังคมแบบ hi5 สามารถสร้างความสัมพันธ์จากเพื่อนสู่เพื่อน เป็นพลังของเครือข่าย เกิดขึ้นกับโลกยุค Social Networking

เว็บไซต์ hi5 หรือ Facebook เป็นตัวอย่างของพลังเครือข่าย Social Networking ที่กำลังมาแรงมาก นักการตลาดและนักธุรกิจต้องตามให้ทัน ยังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองหาโอกาสได้มากกว่ากัน

บางธุรกิจที่มีลูกค้ามากๆ เป็นหลักล้านราย ก็สามารถสร้าง Social Networking ขึ้นเอง เช่น กลุ่มทรู สร้างเว็บมินิโฮม เครือข่ายให้ลูกค้าแสดงตัวตน โดยได้ไอเดียมาจากเกาหลี หรือแฮปปี้ไว้รัส ของดีแทค ที่สร้างเครือข่ายเด็กมัธยม ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการสร้าง Social Networking เป็นของตัวเอง

18 มี.ค. 2551

คาด เฟดหั่นดอกเบี้ยแรง กดดัน กนง ลดอัตราดอกเบี้ย

นักวิชาการ “นิด้า” ชี้ไทยอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หากธนาคารกลางสหรัฐ ลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นี้ ชี้ธุรกิจอสังหาฯ จะได้รับประโยชน์มากที่สุดเมื่อรวม 3 ปัจจัย ทั้งลดดอกเบี้ย มาตรการภาษี และโครงการรถไฟฟ้า

วันนี้ (17 มี.ค.) นายกำพล ปัญญาโกเมศ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการลงทุนและการจัดการความเสี่ยง คณะบริหารธุรกิจ นิด้า คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.50% แต่หากเฟดลดดอกเบี้ยลงแรงกว่าที่ตลาดคาดไว้ จะมีผลบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว จะต้องดูผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อด้วย เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่สำคัญ และถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน รัสเซีย อังกฤษ รวมถึงไทย

นายกำพล กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่จะต่อเนื่องมายังตลาดเงินตลาดทุนของไทยคือ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทย น่าจะต้องปรับลดลง และตลาดหุ้นน่าจะได้รับผลทางบวกในระยะสั้นเช่นกัน โดยธุรกิจที่จะได้รับผลดีอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว

ยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลทางด้านภาษีที่เพิ่งประกาศออกมา และความชัดเจนเรื่องของโครงการลงทุนในรถไฟฟ้าสายต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐลดดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยิ่งอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ รวมถึงเงินบาท ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องหาทางรับมือในเรื่องนี้

“ตอนนี้สหรัฐฯมีเครื่องมือไม่มากนักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หากลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วยังไม่ได้ผลก็คงลำบาก เพราะถ้าจะลดดอกเบี้ยลงไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องเงินเฟ้อ ยิ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันแพงเช่นปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหายากยิ่งขึ้น” นายกำพล กล่าวสรุปทิ้งท้าย

17 มี.ค. 2551

ดอลล์ยวบจุดชนวน ศก.โลกป่วนยกใหม่

โพสต์ทูเดย์ — เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าต่อเงินสกุลหลักของโลก ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป นักวิเคราะห์ชี้อาจถึงขั้นกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจครั้งล่าสุด

นักวิเคราะห์ชี้การอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ของเงินเหรียญสหรัฐ บวกกับกระแสวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มช่วงขาลงของมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก เสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ และอาจรุนแรงพอๆ กับวิกฤตการณ์ครั้งที่แล้วๆ มา

“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของวิกฤตการเงินการธนาคารครั้งประวัติศาสตร์ บวกกับวิกฤตการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของแท้” เวโรนิก ริช-ฟลอเรส นักวิเคราะห์จากธนาคารโซซิเอเต เจเนราล กล่าวพร้อมชี้ว่า ขณะนี้ตลาดต่างเตรียมรับมือกับการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐในระดับที่เลวร้ายกว่านี้

ด้าน ชาร์ลส์ วายพลอตซ์ จากมหาวิทยาลัยเจนีวา กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับการอ่อนค่าของ เงินเหรียญสหรัฐในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ยุติมาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนเบรตตันวูดเมื่อทศวรรษที่ 70
“เมื่อพิจารณาจากตัวเลขงบประมาณขาดดุลและตัวเลขขาดดุลการค้าอย่างมโหฬารของสหรัฐ การที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าต่อเงินยุโรปมาแตะที่ 1.5 ถือเป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นและจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การอ่อนค่าของสกุลเงินมีส่วนกระตุ้นการส่งออกและชะลอการนำเข้าของสหรัฐก็จริง กระนั้นก็ตามหากค่าเงินยังอ่อนตัวลงมากกว่านี้ จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น” วายพลอตซ์ กล่าว

อีริก แวร์กโนด์ จากบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า การที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงมาต่ำกว่า 1 ฟรังก์สวิส เป็นครั้งแรกและต่ำกว่า 100 เยน นับตั้งแต่ปี 2538 ได้กระตุ้นเตือนถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกคราวที่ผ่านๆ มา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาแทรกแซงความเคลื่อนไหวของค่าเงิน จำเป็นจะต้องใช้มาตรการที่สัมฤทธิผลอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงที่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือทางการเงินของตัวเอง

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่น หลังจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาเกิน 100 เยนต่อเหรียญสหรัฐ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิตกเกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวมาไม่นาน โดยเฉพาะภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ที่จะเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ก่อนที่ภาคธุรกิจจะได้รับความเสียหาย แต่ไม่สนับสนุนให้ใช้มาตรการแทรกแซงความเคลื่อนไหวของ ค่าเงิน เพราะอาจก่อให้เกิดความ บาดหมางใจกับสหรัฐ ไม่เพียง เท่านั้นการใช้มาตรการดังกล่าวยังมีผลลัพธ์ในวงจำกัดเท่านั้น

15 มี.ค. 2551

เตรียมตัวรับมือ กับความถดถอยของเศรษฐกิจโลก

จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับเศรษฐกิจและค่าเงินของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศจีนและอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจของโลกจะเกิดอาการ "ช็อค" เพราะราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น ประชากรทุกประเทศจะเริ่มประหยัดการใช้จ่ายมากขึ้น อันจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง และจะมีผลเชื่อมโยงกันทั่วโลกให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างมาก

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานแล้ว แต่ปัญหาบางอย่างก็ยากที่รัฐบาลจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาสินค้า ที่รัฐบาลจะพยายามลดราคาสินค้าลง ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะต้นทุนทุกอย่างปรับเพิ่มขึ้น แต่จะบังคับให้ปรับราคาสินค้าลดลงคงมีความเป็นไปได้น้อย นอกจากนั้นการพยายามตรึงราคาน้ำมัน เป็นวิธีการคิดที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะการตรึงราคาน้ำมันจะมีประโยชน์สำหรับกรณีราคาเพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆ แต่จากการวิเคราะห์แล้ว ราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวในระดับสูงไปอีกนาน

การแก้ปัญหาของประเทศ ตอนนี้อย่ามองเพียงตัวเลข GDP ที่ต้องการได้เพิ่มขึ้น แต่หันมาให้ความสำคัญกับความสุขของประชาชน ซึ่งบางครั้งอาจจะสวนทางกับแนวคิดแบบเดิมๆ ลองหันมาใช้แนคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ชีวิตของคนไทยอาจจะมีความสุขมากกว่าปัจจุบัน

14 มี.ค. 2551

เงินเฟ้อจีน-อินเดียพุ่ง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่อยู่ที่ 7.1% ซึ่งถือเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 7.9%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ดันให้เงินเฟ้อในจีน พุ่งสูงขึ้นมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอาหารในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 23% หลังจากที่ต้องเผชิญกับพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ทำให้พืชผลและเส้นทางคมนาคม ขนส่งถูกทำลายจนส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องชั่งน้ำหนักในการปล่อยให้ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะทำให้ความต้องการ ส่งออกชะลอตัวจนกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

สำนักงานสถิติจีนระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้และออกมาตรการที่ได้ผล ท่ามกลางความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อตลอดปีที่พุ่งสูงขึ้นจากพายุหิมะ ซึ่งทางการจีนตั้งเป้าที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 4.8%

ด้านยักษ์เอเชียอีกราย "อินเดีย" ก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางราคาอาหารผัก ผลไม้ ที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้แบงก์ชาติอินเดียอาจมีโอกาสน้อยลงที่จะลดดอกเบี้ย

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมระบุว่า เงินเฟ้อ แตะระดับ 5.02% ในช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทำให้รัฐบาลอาจต้องดำเนินมาตรการเพื่อรับมือเงินเฟ้อ หลังจาก คาดการณ์ว่าผลผลิตพืชช่วงฤดูหนาว เช่น ข้าวสาลี ข้าว อาจน้อยลงในปีนี้ โดยมองว่าผลผลิตรวมอาจลดลงจาก 106.7 ล้านตัน เหลือ 103.4 ล้านตัน ในปีนี้ และในส่วนของข้าวสาลีลดลงจาก 75.8 ล้านตัน เมื่อปีกลาย เหลือ 74.8 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวอาจลดจาก 13.2 ล้านตัน เหลือ 12.6 ล้านตัน

ภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเริ่มมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง เพราะยักษ์ใหญ๋ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา จีน อินเดีย กำลังประสบปัญหา ใครที่เป็นผู้ประกอบธูรกิจภาคการส่งออก คงต้องเตรียมตัวในการหาตลาดเกิดใหม่ เพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอาจจะมาถึงในอีก 3 ปีข้างหน้า เตรียมตัวเอาไว้ก่อนปลอดภัยกว่า

13 มี.ค. 2551

"อีโคดีไซน์" ธุรกิจ-แพ็กเกจจิ้งเพื่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา: "ประชาชาติธุรกิจ" วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3983 (3183)

"อีโคดีไซน์" ธุรกิจ-แพ็กเกจจิ้งเพื่อสิ่งแวดล้อม

ภาพจาก : http://sweden.procarton.com

เทรนด์ของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ทว่าสำหรับเมืองไทยทุกคนอาจจะมองแตกต่างกันในแง่ที่ว่า หากต้องการพัฒนาแนวอีโคดีไซน์แล้วควรจะเริ่มจากตรงไหน และมักมีคำถามจากผู้ประกอบการว่าแพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกเป็นอีโคดีไซน์หรือเปล่า ถ้าหากนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติเพิ่ม หรือในอีกมุมหนึ่งแพ็กเกจจิ้งจากธรรมชาติเป็นการทำลายธรรมชาติหรือไม่

อะไรเป็นตัวชี้วัดเมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะพัฒนาธุรกิจของท่านไปในแนวทางของอีโคดีไซน์ได้อย่างไร

"ประชาชาติธุรกิจ" สรุปเนื้อหาการอบรมเรื่องการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศวิทยาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 ที่จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ เพื่อให้เอสเอ็มอีจับทิศทางและเริ่มต้นการปฏิวัติรูปแบบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

LCA ประเมินอีโคโปรดักต์

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจเลือกที่จะพัฒนากระบวนการผลิต หรือแม้แต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้งจะต้องประเมินวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายว่าจะเลือกใช้วัสดุอะไรด้วย วิธีการผลิตแบบไหน เมื่อผลิตออกมาแล้วบรรจุภัณฑ์จากกระดาษหรือพลาสติกอะไรคุ้มค่ากว่ากัน

สิ่งเหล่านี้เราใช้เครื่องมือในการประมวลผลที่เรียกว่า LCA หรือ life cycle assessment เครื่องมือที่ว่านี้คือการเข้าไปศึกษาในหลายๆ ประเด็น เช่น ผลกระทบต่อสังคม ปริมาณพลังงานที่ใช้ การขนส่ง การบำรุงรักษา การรีไซเคิล วัฏจักรของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ภาพจาก : http://sweden.procarton.com

เพื่อที่จะบอกว่าตู้เย็นหนึ่งตู้ที่ออกแบบและผลิตมานั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีอายุการใช้งานคุ้มค่า

หรือไม่ สามารถแยกชิ้นส่วนแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ รวมทั้งกระบวนการผลิตใช้พลังงานไปเท่าไรเพื่อที่จะประมวลแล้วว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับอนาคต

ผู้ประกอบการสามารถเริ่มจาก LCD เองในโรงงานของท่าน หรือการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง และหากเป็นโรงงานขนาดเล็กๆ อาจจะประหยัดต้นทุนโดยการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยใน การประเมินผลก็ได้ เช่น http://www. ecodesign.at/pilot/ONLINE/DEUTSCH/

พลาสติก-ขวด-กระดาษ

ทิศทางที่แตกต่าง

ณกร คงสายสินธุ์ ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ วิทยากรจากกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตกล่องลูกฟูกแนะให้ฟังว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอนาคตมีการพัฒนาให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยแนวทางที่ทั่วโลกมีการนำมาพัฒนาปรับปรุงก็คือ ทำให้กระดาษมีเส้นใยที่มีความเหนียวมากขึ้น เบาขึ้น
ภาพจาก : http://www.canai.org

เช่น กระดาษกล่องบางชนิดที่ใช้วิธีการอัดเป็นแผ่นหนาๆ ซึ่งมีน้ำหนักมากก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้ด้านในเป็นลอนเล็กๆ แบบเดียวกับกระดาษลูกฟูกกล่องใหญ่ๆ แทนการนำเอากระดาษมาอัดเป็นแผนเพื่อให้แข็งแรง หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุขวดเบียร์ ขวดไวน์ คูลเลอร์ 6 ขวด ที่เราเห็นเป็นกล่องกระดาษ เจาะเป็นหูหิ้วด้านบน ในอนาคตอาจจะมีการออกแบบให้กระดาษมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อที่จะลดวัตถุดิบและใช้ยึดเฉพาะปากขวดแทนการหุ้มขวดทั้ง 6 เหมือนในปัจจุบัน

สำหรับกระบวนการในการผลิตแก้ว มีแนวคิดแตกต่างกัน เพราะแก้วนั้นเป็นวัสดุจากธรรมชาติอยู่แล้ว แต่กระบวนการในปัจจุบันผู้ผลิตแก้วมีการจัดการนำเอาแก้วเก่าขวดเก่ามารีไซเคิลได้ใหม่ ซึ่งสามารถลดการนำเอาทรายจากธรรมชาติมาใช้ได้ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับการที่ลูกค้าเองประสบปัญหาเรื่องต้นทุน ดังนั้นการ นำเอาของเก่ามาใช้ได้ใหม่ และการปรับกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานเท่าเดิม แต่ใช้วัตถุดิบน้อยลง ราคาที่ถูกลง จึงเป็นทิศทางสำหรับบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ

ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งแบบผสมผสาน เช่น กล่องนมซึ่งประกอบไปด้วยวัสดุ 3 ชนิดก็คือ กระดาษ อะลูมิเนียมฟอยล์ และพลาสติก สามารถแยกออกมาทำใหม่หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บริษัท เต็ตตราแพ้ค (ไทย) จำกัด ได้พยายามมองหาแนวคิดในการพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ ต่างๆ ควบคู่กับการสนับสนุนให้คนเก็บกล่องนมมาขายผ่านซาเล้งเพื่อนำมารีไซเคิลอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้วัตถุดิบรีไซเคิลมีจำนวนมากแต่ตลาดของการนำมาใช้พบว่ายังน้อยอยู่มาก

บริการเช่าช่องทางประหยัดพลังงาน

แนวคิดในเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะออกแบบให้มีกระบวนการผลิตที่ช่วยประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ต้นแล้ว การให้บริการแบบเช่าโดยการนำเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาแชร์กันใช้ เช่น การให้บริการคอมพิวเตอร์ให้เช่าตามสำนักงาน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 3 ปี 5 ปี การเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร การเช่ารถของสำนักงานตำรวจก็ดี ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือเมื่อใช้จนคุ้มค่าแล้วเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถนำไปขายต่อเป็นเครื่องมือสอง หรือนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำกลับเข้าไปยังกระบวนการผลิตเพื่อนำใช้ใหม่อีกก็ได้ เป็นการประหยัดพลังงานในอีกทางหนึ่ง หรือแม้แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากพลังงาน ทดแทนก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวทางของอีโคดีไซน์เช่นกัน

12 มี.ค. 2551

การกำหนดจุดยืนทางด้านกลยุทธ์ Strategic Position

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบริหารงานภายในองค์กรมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดจุดยืนทางด้านยุทธศาสตร์ขององค์กร (Strategic Position) คือการหาจุดแข็งขององค์กรของท่านที่จะสามารถนำไปใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งนั้นเป็นตัวนำสู่ความสำเร็จ ซึ่งยิ่งองค์กรมีจุดยืนที่ชัดเจนมากเท่าไร จะส่งผลให้บุคลากรขององค์กรสามารถเข้าใจตรงกันไม่มีความสับสน กลยุทธ์ต่างๆของบริษัทก็จะต้องสอดคล้องกับ จุดยืนทางด้านกลยุทธ์ จุดยืนทางด้านกลยุทธ์แบ่งออกได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. Cost Leadership การเน้นทางด้านการลดต้นทุน และ ขบวนการธุรกิจที่เป็นเลิศ Operation Excellence คือ การบริหารคุณภาพ และบริการที่เป็นเลิศ แนวการปรับปรุงจะเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Continuous Improvement เช่น Kaizen Total Quality Management TQM

2. เน้นด้าน Innovation สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ขบวนการผลิตใหม่ มาตรฐานใหม่ ลดขบวนการตัดสินใจ และ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้น อย่างรวดเร็ว ทันควัน ตัวชี้วัดจะเน้น ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เกิดขึ้น การออกสินค้าใหม่ก่อนใคร ลดขบวนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ข้อเสนอแนะความคิดใหม่ๆที่เกิดขึ้นโดยพนักงาน

3. เน้นด้านลูกค้า Customer Intimacy สร้างความพอใจให้กับลูกค้า และ ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่งจะเน้น ด้านการบริหาร ก่ำเช้งกับลูกค้า สร้างแฟนพันธุ์แท้ให้เกิดขึ้น สัดส่วนรายได้จากลูกค้าหลักและแฟนพันธุ์ รายได้ต่อหัวที่เกิดจากลูกค้าแฟนพันธุ์แท้ Life Time Value และการสร้าง ความพึงพอใจลูกค้าสูงสุด Customer Satisfaction

11 มี.ค. 2551

การวิเคราะห์เชิงปริมาณทางธุรกิจ

ผู้บริหารในยุคข้อมูลข่าวสารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ หากผู้บริหารมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือผิดพลาดแล้ว มีโอกาสสูงที่จะตัดสินใจผิดพลาด อันจะส่งผลกระทบการการดำเนินงานและผลประกอบการขององค์กร

ผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จจะให้ความสำคัญกับข้อมูล และตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล มิใช่ทัศนคติส่วนบุคคลหรือสัญชาติญาณ


ประโยชน์ของการวิเคราะห์เชิงปริมาณทางธุรกิจ
การตัดสินใจนับเป็นงานที่ผู้บริหารไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทุกๆวันต้องมีการตัดสินใจ

ผู้ที่ทำการตัดสินใจทุกคนย่อมต้องการที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

นักวิชาการจึงพยายามคิดค้นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวิเคราะห์เชิงปริมาณทางธุรกิจเป็นการรวบรวมเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยผู้บริหารในการตัดสนใจ

สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

การดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมืออาชีพ

คุณลักษณะของการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
หลักการและเหตุผล: มีหลักในการวิเคราะห์ที่ชัดเจน วิเคราะห์ทุกอย่างด้วยเหตุและผล

เป้าหมาย: มีเป้าหมายในการวิเคราะห์ หรือสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

ตัวแปร: การวิเคราะห์จะต้องมีการกำหนดตัวแปร ที่จะใช้ในการวิเคราะห์อย่างชัดเจน

ผลลัพธ์: ผลการวิเคราะห์ชัดเจน ไม่มีการเบี่ยงเบนเนื่องมาจากทัศนคติ ตรวจสอบผลลัพธ์ได้

8 มี.ค. 2551

ความผิดพลาด ที่มักจะเกิดกับ หัวหน้างานใหม่

ปลายปีที่ผ่านมาอาจจะมีผู้อ่านหลายท่าน ได้รับการโปรโมตให้เป็นหัวหน้างาน ซึ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้นท้าทายมากขึ้น แต่ก็เป็นหลุมพรางที่หัวหน้างานใหม่หลายคนเพลอตกลงไป แล้วไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาได้ บทความนี้ขอนำเสนอข้อผิดพลาดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับหัวหน้างานมือใหม่ เพื่อใช้เตือนใจและป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาขึ้น

1. ความคิดและวิธีการใหม่อาจถูกต่อต้าน หัวหน้างานจะต้องมีความอดทน และมีเทคนิคในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกน้อง

2. หลงอำนาจ ปฏิบัติการเฉียบขาด อันนี้ต้องระวังให้ดี เพราะหากใช้อำนาจมากเกินไป จะก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากลูกน้องมากยิ่งขึ้น

3. การชอบลูกน้องบางคนเป็นพิเศษ อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง ทำงานควรมีเป้าหมายในการประเมินความสามารถที่ชัดเจน อย่าใช้เพียงความรู้สึกในการตัดสินคน

4. การให้คำมั่นสัญญา อย่าให้คำมั่นสัญญาที่อาจจะทำจริงได้ เพราะจะทำให้ความน่าเชื่อถือหมดไป และจะส่งผลกับการปกครองในระยะยาว

5. ขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะคำพูด ต้องศึกษาเรื่องวาทะศิลป์ในการพูด จะพูดอะไรแบบตอนเป็นลูกน้องเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

6. การมอบอำนาจ หัวหน้ามักทำทุกอย่าง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด เพราะหัวหน้าใหม่อยากแสดงความสามารถและไม่เชื่อใจลูกน้อง แต่การที่หัวหน้าจะประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากความเชื่อมั่นในตัวทีมงานรวมถึงลูกน้อง

7. ปัดความรับผิดชอบ อันนี้ต้องกล้าที่จะรับผิด มิใช่รับแต่ความชอบอย่างเดียว

8. ไม่ควบคุมอารมณ์ ต้องอดทนมากขึ้น เพราะมีเรื่องที่มีปัญหารอเขาแก้ไขอยู่อีกมาก หากเราไม่สามารถจัดการอารมณ์ของเราได้แล้ว จะเป็นปัญหากับเราต่อไปในอนาคต

9. พูดไม่เป็น ต้องฝึกฝนการพูด อย่ามองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ การสื่อสารภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นส่วนสำคัญในการประสบความสำเร็จขององค์กร

10. ขาดความอดทน ปัญหามีไว้ให้เราแก้ เขาจ้างเรามาเพื่อแก้ปัญหา ปัญหาจะทำให้เรามีความสามารถมากขึ้น ขอให้ท่องคำนี้เอาไว้ให้ขึ้นใจ จะทำให้เราอดทนมากขึ้น

7 มี.ค. 2551

ซื้อฟอร์เวิร์ด-ลดต้นทุน-ขึ้นราคา ...กลยุทธ์หนีตายบาทแข็ง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3981 (3181)

ซื้อฟอร์เวิร์ด-ลดต้นทุน-ขึ้นราคา ...กลยุทธ์หนีตายบาทแข็ง
พลันที่แบงก์ชาติประกาศยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก คือกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากผลที่จะเกิดตามมาหลังการยกเลิกมาตรการก็คือ ค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มจะแข็งค่า ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ค่าเงินบาทจะไปหยุดที่เท่าไหร่ หรือมีรูมให้วิ่งที่เท่าไหร่ ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับตัวได้บ้าง

และที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ ไม่ใช่เอสเอ็มอีทุกรายที่มีขีดความสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพค่าเงินบาทที่ผันผวนไปในทางทิศทางลบเช่นนี้

ซึ่งหลังช่วงเวลาดังกล่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มต่างๆ ถึงแนวทางการปรับตัว ซึ่งก็พบว่ามีทั้งรายที่เข้มแข็งพอปรับตัวได้ทัน และก็มีบางราย (ส่วนใหญ่) ที่ต้องปล่อยไปตามยถากรรม

3 วิธีแก้ปัญหาบาทแข็ง

น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้สร้างสรรค์แพ็กเกจจิ้งไบโอ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 80-90% จากกำลังการผลิตทั้งหมด กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยที่ผมทำทันที หลังจากรัฐบาลได้ส่งสัญญาณที่จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็คือ 1.ซื้อฟอร์เวิร์ด 2.ลดต้นทุน และ 3.ปรับราคาขายขึ้น 10-15%

ทั้ง 3 วิธีเป็นการตั้งรับสำหรับเอสเอ็มที่รู้ข้อมูลและมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ในการที่จะจับสัญญาณหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามา

"จริงๆ ต้องบอกว่า ผมจับสัญญาณ ได้ตั้งแต่ก่อนมีรัฐบาล เพราะเขาได้มีการพูดมาโดยตลอด และพอเขาได้มาเป็นก็ยังพูดต่อ ทำให้ผมตัดสินใจซื้อฟอร์เวิร์ดทันที ทำให้รอบนี้ผมไม่เจ็บตัว" น.พ.วีรฉัตรกล่าวและว่า แต่ทั้งนี้การซื้อฟอร์เวิร์ดก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ทุกรายที่จะซื้อได้ หรือซื้อได้ไม่จำกัด ฉะนั้นสำหรับรายที่เล็กๆ น่าจะมีปัญหาพอสมควร

ส่วนการขึ้นราคาเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับแพ็กเกจจิ้งไบโอสามารถทำได้ เพราะมีช่องทางตลาดให้เล่น ส่วนการลดต้นทุนการผลิตนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำตลอด แต่ก็ยอมรับต้องลงมาดูในรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งเรื่องการขนส่ง เรื่องคน ฯลฯ

แต่ทั้งนี้แม้จะทำทั้ง 3 วิธีก็ยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เป็นแค่การบรรเทาอาการให้เกิดภาวะขาดทุนน้อยลงเท่านั้น

ทั้งนี้ น.พ.วีรฉัตรกล่าวให้ความเห็นว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มองว่าการส่งออกสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คือต้องพึ่งพาตัวเอง

"แต่สิ่งที่อยากจะสะท้อนให้รัฐบาลรับรู้ ก็คือ เราในฐานะที่เป็นผู้ส่งออก เราไม่ได้กลัวว่าเงินบาทจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ที่เรากังวลและเป็นปัญหาก็คือ ค่าบาทที่แกว่ง ไปแกว่งมาไม่หยุดสักที นี่แหละที่เป็นปัญหาที่ทำให้เราทำงานยาก" น.พ.วีรฉัตรกล่าวและว่า

2 ปีมานี้ที่ผมส่งออกแพ็กเกจจิ้งไบโอ ตอนเริ่มส่งออกค่าบาทอยู่ที่ 41 บาท/ เหรียญ แต่ตอนนี้ค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทกว่า หายไปประมาณ 10 บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 25-28% คือรายได้ที่หาย ซึ่งการทำกำไรในการประกอบธุรกิจจริงๆ ก็ไม่ได้มากขนาดนี้ และเวลาทำธุรกิจความเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกิจก็เป็นความเสียหายแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะต่างจากความเสียหายจากค่าเงินบาท เพราะมันเกิดแบบทันทีทันใด"

ลดค่าใช้จ่าย-ขายให้น้อยลง

แหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้แปรรูปกล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ ลดค่าใช้จ่ายและขายให้น้อยลง และปรับราคาก็สินค้าลอตใหม่ ส่วนลอตเดิมก็ต้องยอมเจ็บตัว

"ที่ต้องเจ็บตัวเพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายล่วงหน้า สั่งซื้อสินค้าเมื่อ 1-2 เดือนที่แล้วถึงกำหนดส่งช่วงนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องส่ง ไม่ส่งไม่ได้เสียเครดิต หรือถ้าไม่ส่ง สินค้าก็เสียหาย บางตัวถ้าผลิตแล้วก็ต้องยอมขายขาดทุน ขายได้เงินน้อยดีกว่าของเน่าเสียในห้องเย็น" แหล่งข่าวกล่าวและว่า สิ่งที่ต้องดูหลังจากนี้ก็คือ รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ส่งออก แต่เท่าที่ประเมินคงยาก สิ่งที่ต้องทำจึงต้องพึ่งตัวเอง คือพยายามลดค่าใช้จ่ายและขายให้น้อยลง และเลือกขายกับลูกค้าที่คุยกันรู้เรื่อง ยอมที่จะซื้อในราคาที่แพงขึ้นซึ่งลูกค้าแบบนี้มีไม่มาก

ส่งออกแฝงก็เจ็บ

จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะผู้ส่งออกทางตรงเท่านั้นที่เจ็บตัว แต่ผู้ส่งออกแฝงย่านประตูน้ำ สำเพ็ง โบ๊เบ๊ จตุจักร ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งย่านประตูน้ำกล่าวว่า ผลจากค่าเงินบาทที่ผันผวนทำให้ลูกค้าต่างชาติตัดสินใจซื้อสินค้าได้ยากขึ้น

"เมื่อก่อนหอบเงินดอลลาร์ 1 ดอลลาร์ แลกเงินไทยได้ 38-39 บาท กลับมาอีกครั้งเหลือ 31-32 บาท หายไป 7-8 บาท ทำให้ต่างชาติคิดแล้วคิดอีก กดเครื่องคิดเลขซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะซื้อดีหรือเปล่า และก่อนจะตัดสินใจซื้อ ก็ขอต่อราคา ขอลดแล้วลดอีก ยอมรับเลยว่าขายยากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าวและว่า เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่า เราขายเงินบาท ไม่ได้รับผลกระทบนั้นไม่จริงเลย

ส่วนการปรับตัวก็คือ พยายามลดต้นทุน เน้นทำสินค้าคุณภาพ และหนีคู่แข่งจีน ด้วยการออกสินค้าใหม่ที่ไม่ซ้ำกับจีน

"มีลูกค้าต่างชาติในกลุ่มยุโรป จำนวนเยอะเหมือนกันที่เคยหนีไปซื้อจีน สุดท้ายก็กลับมาไทย เพราะคุณภาพเราดีกว่า แต่สิ่งที่เราต้องบอกให้เขาเข้าใจก็คือ ต้นทุนเราเพิ่ม ดังนั้นยอมซื้อเราแพงนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาจะได้คือ คุณภาพ" แหล่งข่าวกล่าว

6 มี.ค. 2551

การเรียนรู้และการสอนงานภายในองค์กร

คนเราเรียนรู้ได้อย่างไร

การเรียนรู้: การเรียนคือการเพิ่มทักษะ ความรู้และทัศนคติ คนเราสามารถจะฝึกฝนทักษะ รับความรู้และทัศนคติ โดยผ่านประสาทสัมผัส (Senses) มอง ฟัง สัมผัส ลิ้มรส และดมกลิ่น

ประโยชน์ของการสอน
ประโยชน์กับพนักงาน
1. เพิ่มความพอใจในการทำงาน
2. เพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงาน
3. เพิ่มสมรรถภาพในการทำงาน
4. ใช้อุปกรณ์การทำงานได้อย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
ประโยชน์ต่อผู้สอน
1. ทำให้งานของผู้สอนง่ายขึ้น
2. ได้รับคำตำหนิน้อยลง
3. ผู้สอนได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำ
ประโยชน์ต่อเจ้าของ
1. เพิ่มผลกำไร
2. ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
3. ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
4. ลดการสูญเสีย
5. ลดคำตำหนิ
6. ลดอัตราการหมุนเวียนพนักงาน

องค์กรที่จะสามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน จะต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้องค์กรสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง

5 มี.ค. 2551

พูดจาดีจะเป็นศรีแก่ตัว

พูดจาดีจะเป็นศรีแก่ตัว
เรื่อง : ประณม ถาวรเวช สถาบันพัฒนาบุคลิก

คนโบราณเคยเตือนสติในเรื่องการพูดจาเอาไว้ให้จำกันได้ง่ายๆ ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย” หลายคนมาแผลงเป็น “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากจะมีสี”
จะยึดคำกล่าวไหนก็ได้ค่ะ เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การ “พูดให้ดี”
ทำไมต้องพูดให้ดี...
เพราะการพูดให้ดีนั้น ฟังแล้ว “เข้าหู” ชวนฟัง ชวนให้คล้อยตาม ชวนให้รู้สึกประทับใจ และก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมาได้อีกมากมาย
การพูดเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตค่ะ เพราะตลอดทั้งชีวิต เราต้องอาศัยการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ
พูดไม่เป็น พูดไม่เข้าหูคน สื่อสารไม่สัมฤทธิผล วกไปวนมา หาประเด็นไม่ได้ ท่าทางชีวิตจะย่ำแย่ ดังนั้น มาเรียนรู้การพูดการจาให้เป็นสง่าราศีแก่ชีวิตดีกว่าค่ะ
1.คนจะพูดดีได้ต้องเริ่มจากคิดดี
ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเริ่มต้นจากการคิดร้าย แม้กับคนที่เราไม่ถูกชะตาด้วยที่สุด ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องพูดจาไม่ดีกับเขา การคิดดีถือเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ เป็นพื้นฐานของจิตใจที่ดีงาม ใครก็ตามที่รู้จักคิดดี เขาก็จะเห็นแง่งามของโลก ของชีวิต ของตนเอง และของผู้อื่น เมื่อเห็นแง่งามหรือแง่ดีของสิ่งต่างๆ เขาก็ย่อมมีทัศนคติที่ดี มีท่าทีที่ดี และเมื่อต้องพูดจาเสวนากัน เขาก็ย่อมพูดจาดี
การพูดจาดี ไม่เพียงแต่สะท้อนการให้เกียรติและเคารพในตัวคนอื่น แต่ยังสะท้อนการให้เกียรติและเคารพตนเองอีกด้วย คนจะพูดจาดีได้ ต้องได้รับการอบรมมาดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ดิฉันขอย้ำอีกครั้งว่า บุคลิกภาพดีๆ เริ่มต้นที่ครอบครัว การพูดจาดีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มจากในบ้าน พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างของคนที่พูดจาดีๆ ต่อกัน ต้องเป็นผู้ชี้แนะคุณค่าของการพูดดี
พูดดีในที่นี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าพูดเพราะ พูดคำสุภาพ มีน้ำเสียงที่สุภาพ มีหางเสียงครับ ค่ะ จ๊ะ จ้ะ เพื่อแสดงความมีมารยาท มีไมตรีจิต ไม่พูดคำหยาบ ไม่ใส่ร้าย ไม่ตะคอกตะเบ็งใส่กัน ไม่ประชดประชัน ไม่โกหกพกลม คนจะพูดดีเช่นนี้ได้จะคิดร้ายอยู่ในใจไม่ได้แน่นอน เพราะความร้ายกาจในใจจะเผยมาทางคำพูด น้ำเสียง แววตา หรือท่าทีขณะที่พูดได้ จึงจำเป็นต้องฝึกตนให้เป็นคนคิดดี
2.พูดถูกกาลเทศะ
ไม่ใช่ตลอดเวลาหรอกนะคะ ที่คนเราจะพูดได้ ต้องมีบ้างบางขณะที่เราหยุดพูด เพื่อเป็นผู้ฟังคนอื่นพูดบ้าง คนบางคนถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ผีเจาะปากมาพูด” คือพูดๆๆๆๆ ฟังไม่เป็น ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด ทำตัวเป็นผู้รู้ไปหมดทุกเรื่อง จึงพูดอยู่ตลอดเวลา คนแบบนี้น่ารำคาญ จริงไหมคะ
อย่าทำตัวน่ารำคาญ ด้วยการพูดจาไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ดูวาระและโอกาส คนพูดเป็นจะรู้ว่าโอกาสไหนควรพูด โอกาสไหนควรฟัง และโอกาสไหนควรวางเฉย คนที่รู้จักพูดเขาจะดูสถานที่ และเลือกวิธีพูดจาให้เหมาะสมกับผู้ฟังและสถานที่ ผู้ฟังที่อาวุโสกว่าเรา เราต้องพูดด้วยท่าทีและน้ำเสียงอย่างหนึ่ง เป็นเพื่อนกันก็พูดอย่างหนึ่ง เป็นน้องเป็นนุ่งเราก็ต้องพูดอีกแบบหนึ่ง พูดในที่ประชุมจะเหมือนพูดในกลุ่มเพื่อนไม่ได้ พูดคุยกับเพื่อนก็อย่าทำตัวน่าเบื่อเหมือนบรรยายวิชาการ การปรับตัวหรือพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่ต่างกันไปเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้
หลักการพูดให้ถูกกาลเทศะทำได้ง่ายๆ คือ ดูว่าเราต้องพูดในหัวข้อไหน เรื่องอะไร พูดที่ไหน ใครฟัง ผู้ฟังกี่คน ฟังกันในที่เปิดเผย หรือในห้องจำกัด พูดสั้นหรือพูดยาว จริงจังหรือกันเอง ใครอ่านสถานการณ์ออก เตรียมตัวพร้อม ก็สามารถพูดจาได้น่าจดจำตามวาระและโอกาสนั้นๆ ได้เสมอ
3.พูดมีเนื้อหาสาระ
ห้ามพูดเรื่อยเปื่อย ไม่ว่าจะคุยกันกับเพื่อน ผู้ร่วมงาน พ่อแม่ หรือพูดในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ ก็ต้องมีเป้าหมายในการพูด พูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตชัดเจนว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หรือต้องการจะบอกกับผู้ฟังว่าอะไร
4.พูดจาให้น่าฟัง
น้ำเสียงที่กังวานแจ่มใส ดังพอประมาณ พูดจาฉะฉานชัดเจน จะดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มาก การพูดในบางครั้งต้องพูดปากเปล่า แต่บ่อยครั้งก็ต้องพูดผ่านไมโครโฟน หากมีโอกาสฝึกฝนเรื่องการใช้เสียงอย่างเหมาะสมทั้งแบบปากเปล่าและผ่านไมโครโฟนได้ก็ควรทำ เพราะการพูดผ่านไมโครโฟนนั้น ต้องมีระยะใกล้ไกลระหว่างปากกับไมโครโฟนที่พอเหมาะ เสียงจึงจะชัดเจน ไม่มีเสียงเสียดแทรกจนผู้ฟังรู้สึกไม่สบายหูหรือรำคาญ
ในการพูดนั้น ควรมีการเน้นจังหวะและเว้นจังหวะ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ชวนติดตาม ควรฝึกลมหายใจระหว่างการพูด อย่าให้ติดขัด ดูเหมือนหอบเหนื่อย หรือกักลมหายใจจนผู้ฟังเห็นแล้วอึดอัด หรือรู้สึกเหนื่อยแทน การออกเสียงอักขระ ร เรือ ล ลิง และคำควบกล้ำต้องชัดเจน ลองฝึกอ่านออกเสียง หรือพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเทป แล้วเปิดฟังบ่อยๆ จะพบข้อบกพร่องและแก้ไขได้ง่าย
5.พูดให้เกิดความรู้สึกร่วม
วิธีการง่ายๆ คือ สบตากับผู้ฟังอย่างทั่วถึง ตั้งคำถามในขณะพูดแล้วค่อยๆ อธิบายเพื่อนำไปสู่คำตอบ สอบถามผู้ฟังบ้างในบางหัวข้อที่ง่ายๆ หรือเป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ใช่เรื่อง ซึ่งเมื่อตอบแล้วอาจถูกหรือผิด
ผู้พูดจำเป็นต้องรู้พื้นภูมิของผู้ฟังบ้าง เพื่อพูดในภาษาที่เขาเข้าใจง่าย บางครั้งการพูดด้วยสำเนียงท้องถิ่นก็ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดี รู้สึกเป็นกันเอง อย่าพูดไทยผสมกับภาษาต่างประเทศโดยไม่อธิบาย เลือกใช้ภาษาต่างประเทศเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และยกตัวอย่างที่คาดว่าผู้ฟังน่าจะมีประสบการณ์ร่วม อย่ายกตัวอย่างไกลตัว
การพูดเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของคนเรา เป็นภาพฟ้องอุปนิสัยใจคอ จึงไม่อาจพูดจาเรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย ไร้การระมัดระวังได้
การพูดนำมาซึ่งมิตรและศัตรู แต่ก็นั่นแหละ เราเลือกได้นี่คะ ว่าจะพูดให้ได้เพื่อน หรือพูดให้ได้ศัตรู
การพูดทำให้คนเราดูดี หรือดูแย่ได้ทั้งนั้น
อยู่ที่ว่าเราจะเลือกอะไร

4 มี.ค. 2551

เศรษฐกิจการพนัน

รังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว 3/12/2546

ในทางเศรษฐศาสตร์มีสินค้าบางประเภท ที่นอกจากผู้บริโภคจะได้รับอรรถประโยชน์(Utility) จากการบริโภคสินค้านั้นแล้ว ผู้ที่ไม่ได้บริโภคสินค้าเหล่านั้น(หรือสังคม)จะได้รับผลกระทบด้วย หรือเรียกว่ามีผลกระทบภายนอก (Externality) โดยผลกระทบภายนอกอาจจะมีทั้งทางบวก คือทำให้อรรถประโยชน์สังคม (Social Utilities) สูงขึ้น หรือเรียกว่า “สินค้าที่มีผลดีต่อสังคม” (Merit Goods) ส่วนสินค้าที่มีผลทางลบ จะทำให้อรรถประโยชน์สังคม (Social Utilities) ต่ำลง หรือเรียกว่า “สินค้าที่มีภัยต่อสังคม” (Demerit Goods)โดยสินค้าที่มีภัยต่อสังคม หากปล่อยให้มีการผลิตอย่างเสรีจะมีการผลิตมากเกินไป ตรงกันข้ามกับสินค้าที่มีผลดีต่อสังคม ที่หากปล่อยให้มีการผลิตอย่างเสรีจะมีการผลิตน้อยเกินไป ดังนั้นสำหรับสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกหากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี จะทำให้อรรถประโยชน์ของสังคมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงการผลิตของสินค้าทั้งสองประเภท เพื่อให้สังคมได้รับอรรถประโยชน์สูงสุด (Maximize Social Utilities)

การพนันเป็น “สินค้าที่มีภัยต่อสังคม” ประเภทหนึ่ง ซึ่งส่งผลในให้อรรถประโยชน์ของสังคมต่ำลง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาควบคุม การควบคุมเรื่องการเล่นพนัน ควรจะไม่ให้มีกิจกรรมนี้ภายในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีประเทศไหนสามารถขจัดการพนันให้หมดไปจากสังคมได้ หากแต่สามารถควบคุมการเล่นพนันให้อยู่ในกรอบ

การที่รัฐจะสามารถควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมได้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐผู้ควบคุมกฎหมายจะต้องบังคับใช้กฎที่มีอยู่อย่างเข้มแข็ง แต่การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ค่อนข้างจะย่อหย่อน เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งหากตั้งใจจริงในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ปัญหาที่ว่ายาก ตำรวจไทยก็สามารถแก้ได้ เช่น การปราบปรามยาเสพติด ที่ทำได้เห็นผลอย่างชัดเจน แต่การบังคับใช้กฎหมายกับนักพนันก็เป็นเรื่องยาก เพราะสังคมยังไม่รู้สึกว่าการพนันเป็นความผิดร้ายแรง บางคนสนับสนุนให้ทำอย่างถูกกฎหมาย ที่สำคัญที่สุดคือ การคงอยู่ของ “ธุรกิจใต้ดิน” เป็นผลมาจากการได้รับความคุ้มครองจากผู้รักษากฎหมาย ตราบใดที่ผู้รักษากฎหมายยังได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจนอกกฎหมาย ธุรกิจนอกกฎหมายก็จะยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อไป
การที่รัฐพยายามจะจัดการให้ “เศรษฐกิจการพนัน” กระทำอย่างถูกกฎหมาย ต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม โดยเฉพาะกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และอีกส่วนที่มีความสำคัญ คือ การจัดสรรรายได้ของรัฐจำนวนมหาศาลที่เกิดจาก “เศรษฐกิจการพนัน”

เงินที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ จากการนำ “เศรษฐกิจการพนัน” มาทำให้ถูกกฎหมาย อาจจะแยกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ กำไรหรือภาษีที่จัดเก็บได้ จากธุรกิจประเภทนั้น และ ส่วนที่สอง คือ เงินหมุนเวียนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าเงินทั้งสองส่วนจะเป็นเงินนับแสนล้านบาท หากนำทั้งโต๊ะบอลและบ่อนคาสิโน มาทำให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากเม็ดเงินหมุนเวียนที่เล่นกันอยู่ใน “เศรษฐกิจการพนัน” มีจำนวนมากถึง 1.5 ล้านล้านบาท และหากคิดกำไรแล้วในแต่ละปีจะมีกำไรถึง 3.4 แสนล้านบาท
การนำเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยให้กับสังคมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อลดผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการนำธุรกิจผิดกฎหมายมาทำให้ถูกกฎหมาย โดยพยายามจัดสรรเงินในส่วนนี้ไปสนับสนุน (Subsidy) การผลิต “สินค้าที่มีผลดีต่อสังคม”(การศึกษา การสาธารณสุข และการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ) ซึ่งอาจจะแบ่งเงินออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกนำเงินไปพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อยกระดับพื้นฐานทางด้านความคิดของเยาวชนในประเทศ ให้รับรู้ถึงผลกระทบของการเป็นทาสของ การพนัน ส่วนที่สองควรนำเงินไปสนับสนุนทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ส่วนสุดท้ายนำไปจัดแบ่งให้กับข้าราชการตำรวจที่จะต้องรับผิดชอบในการดูแลสังคมที่เพิ่มขึ้น

เงินใน “เศรษฐกิจการพนัน” มีความเกี่ยวโยงถึงกันระหว่างนักการเมืองระดับชาติกับนักการเมืองท้องถิ่น และนำมาสู่การแสวงหาผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ จนทำให้ “เศรษฐกิจการพนัน” มีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ การที่รัฐจะเข้ามาจัดการเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องมีความโปร่งใส เพราะมีนักการเมืองในรัฐบาลอาจจะได้รับผลประโยชน์ บนความเสื่อมถอยของสังคมไทย…

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้

การเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ขององค์กร การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพมีองค์ประกอบหลายประการ บทความนี้จึงอยากนำเสนอปัจจัยต่างๆที่จะมีผลกระทบกับการเรียนรู้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

ปัจจัยที่ช่วยในการเรียนรู้
1. มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
2. มีเหตุมีผลกระชับและขัดเจน
3. ใช้อุปกรณ์ช่วยการสอน
4. การกระตุ้นผู้เรียนด้วยการชมเชย และดึงดูดความสนใจ
5. การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

ปัจจัยขัดขวางการเรียนรู้
1. ความกลัวและกังวล
2. เสียงรบกวน
3. การขัดจังหวะการเรียน
4. สิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ
5. ขาดการวางแผนงานที่ดี
6. ความอ่อนเพลีย
7. สมรรถภาพทางร่างกาย
8. ปัญหาส่วนตัว

เมื่อเรารู้ถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราจะสามารถวางแผนเพื่อให้การเรียนรู้ภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้

3 มี.ค. 2551

The Future of HR เรียนลัดพัฒนา "ทุนมนุษย์" กับกูรู

The Future of HR เรียนลัดพัฒนา "ทุนมนุษย์" กับกูรู
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource-HR) แม้จะเป็นทัพหลังแต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้ทัพหน้าเช่นกัน

โดยเฉพาะในวันที่โลกหมุนเร็ว HR จะมานั่งปิดหูปิดตา คลำทำงานเดิมๆ อย่างดูแลพนักงานแค่ขาดลามาสายต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องมองหาวิถีทางใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเองและองค์กรให้เหมาะสมกับบทบาทใหม่ในอนาคตให้ทันเกมธุรกิจมากขึ้น

"รัฐ ดำรงศรี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ จำกัด ในฐานะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการ HR และเทรนนิ่งมานาน ได้เปิดมุมมองในเรื่องนี้อย่างน่าคิดว่า ชั่วโมงนี้ HR ไม่มีเวลามานั่งทำงานรายวันเช่นเดิมแล้ว ต้องมองอนาคตให้ทะลุเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร

บนโลกของการแข่งขัน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป HR จำเป็นต้องพลิกบทบาทของตัวเองทำงานเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ดูแลพนักงานขาดลามาสาย แต่ต้องทำงานทั้ง HRD (human resource development) HRM (human resource management) retraining management, career path development เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในองค์กร เพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง ระยะเวลาการทำงานของพวกเขาสั้นมากเพียง 3 ปี 5 ปี มีรอบการเทิร์นโอเวอร์จึงสูง ในขณะที่คนรุ่นเก่ามักจะอยู่จนเกษียณอายุ

อีกด้านหนึ่งเดิมอาจจะมีอายุการทำงานแค่ 60 ปี แต่ปัจจุบันได้มีการขยายกรอบออกไปเป็น 65 ปี 70 ปี ทำให้ HR ต้องบริหารคนในบริบทที่เปลี่ยนไป

วันนี้หากจะถามถึงเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ต้องยอมรับว่า HR มีบทบาทที่สำคัญไม่ใช่น้อย เพราะหากองค์กรไม่มีคนดี คนเก่ง ไม่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การสร้างแต้มต่อในเชิงธุรกิจก็มีความเป็นไปได้ น้อยมาก

ด้วยเหตุนี้ทำให้มีโปรแกรมเทรนนิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้ง talent manager การสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน การพัฒนาแคเรียร์พาร์ต เรื่องความเป็นผู้นำ

แต่ทว่าเอาเข้าจริงหลายหลักสูตร กลับทำให้องค์กรต้องร้องโอดโอยเพราะต้องสูญเงินไปเปล่าๆ ปีละนับล้านบาทแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในองค์กรเลย

"รัฐ" วิเคราะห์ว่าปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะมีมูลเหตุจากการไปอิมพอร์ตหลักสูตร ต่างชาติเข้ามา เช่น competency base เมื่อนำมาใช้กับองค์กรในเมืองไทยก็พบทั้งข้อดี พบทั้งปัญหามากมาย ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ "แนวทางและทิศทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต" (The Future of HR) ขึ้นในวันที่ 18 มีนาคมนี้ เวลา 13.00-16.00 น. ณ อาคารชินวัตร 3 เพื่อให้ HR และผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับ HR หันกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองว่าในอนาคตจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะสิ่งที่หยิบยืมจากต่างชาติมาใช้อาจจะไม่ใช่ความสำเร็จเสมอไป

งานสัมมนาครั้งนี้พยายามจะจัดให้ครบเครื่องที่สุด มีการระดมผู้ทรงวุฒิและผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ที่โดดเด่นจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทยใน หลากหลายด้านมาร่วมแสดงทรรศนะ

อาทิ รศ.ไว จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาพูดในมุมมองของภาครัฐว่ามีบทบาทอย่างไรในอนาคต สรวุฒิ หรณพ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท ฮิวเลตต์- แพคการ์ด จำกัด จะฉายภาพของ HR ในโลกดิจิทัลว่าเป็นอย่างไร

ปรีชา ธนสุกาญจน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบุคคล บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด จะมาร่วมแชร์ไอเดียในส่วนธุรกิจ

อสังหาริมทรัพย์ว่ามีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีความหลากหลายทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนกว่า 2,000 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

และอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บดี ตรีสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ธนาคารเกียรตินาคิน จะคุยให้ฟังถึงการจัดการคนในระบบสถาบันการเงิน

โดยประเด็นเสวนาจะเน้นไปในเรื่องทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน บทบาทของ HR ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันและในอนาคต อุปสรรคและปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นวันนี้และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ เรื่องแนวทางการพัฒนาคนขององค์กรในอนาคต

ภาคเช้าจะเป็นการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทของ HR มืออาชีพในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันและในอนาคต" ว่าด้วยทิศทางและการเปลี่ยนแปลงในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นไป และบทบาทของ HR ในศตวรรษที่ 21 ในการมีส่วนร่วมต่อการสร้างความสำเร็จขององค์กรได้อย่างไร รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการบริหารคนใหม่ๆ ที่จะทำกันต่อไป

ส่วนช่วงบ่ายจะโฟกัสไปที่การพัฒนาคนโดยตรง ภายใต้หัวข้อ "แนวทางการพัฒนาคนขององค์กรในอนาคต" เพื่อให้ ผู้เข้าร่วมสัมมนารับรู้ร่วมกันว่าอะไรคือแนวทางการพัฒนาคนที่องค์กรชั้นนำได้ดำเนินการกันอยู่ และมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรหรือไม่ต่อโปรแกรมการพัฒนาต่างๆ ที่ได้ดำเนินงานไป จากนั้นเปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีการซักถามและแสดงความคิดเห็น

"ในอดีตมีโปรดักต์ดีก็ขายได้ ต่อมา โปรดักต์ดีใครๆ ก็ผลิตได้ หลายองค์กร เริ่มหันมาเน้นเซลส์ฝีมือดี ผ่านไปสักพักทุกองค์กรก็มีเซลส์มือทองเหมือนกันหมด องค์กรต่างๆ ก็หันมารุกด้านมาร์เก็ตติ้ง การสร้างแบรนด์ สุดท้ายทุกองค์กรก็ เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้ทุกองค์กรเชื่อแล้วว่า องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับคน คนที่มีภาวะผู้นำ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ การให้ความรู้เรื่องต่างๆ กับคนในองค์กรจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง"

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ จำกัด ชี้ให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาคนในทศวรรษนี้พร้อมบอกต่อว่าช่วงหลังๆ องค์กรต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ค่อนข้างมาก เริ่มหันมามองอะไรที่จับต้องได้ยากมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

ทุกวันนี้ HR จึงต้องตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา

ทำอย่างไร "คน" จึงจะสะท้อนแบรนด์ขององค์กร

ทำอย่างไร "คน" จะปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาขององค์กรไทย

ทำอย่างไร "คน" จะรักภักดีกับองค์กร

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นภารกิจของ HR ยุคใหม่ทั้งสิ้น งานนี้จึงเชื่อว่าจะมีผู้สนใจ

เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 200 คน เพราะเวทีนี้ทุกคนจะได้มีโอกาสได้แชร์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวต่อไปในปี 2008 อย่างมั่นคงและยั่งยืน

1 มี.ค. 2551

แรงผลักดันด้านต้นทุน เราจะรับมืออย่างไร? (จบ)

แนวโน้มต้นทุนของธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะคงตัวในระดับสูงอยู่ต่อไป เราได้ทราบวิธีการบางส่วนในการรับมือกับแรงผลักดันทางด้านต้นทุน จากบทความก่อนหน้านี้ ครั้งนี้เราจะมาทราบวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมในการรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น

1. หาแหล่งวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจึงมีต้นทุนต่ำลง

2. การทำให้ทรัพยากรบุคคลของบริษัททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะมีการ Traning พนักงานตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับผู้บริหาร

3. หันมาใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านโรงงาน สามารถใช้พนักงานทดแทนได้มาก อันได้แก่พลังงานหมุนเวียน

4. Recycle and Re-used เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทรู้ แต่กลับไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง หากนำมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้มาก

5. ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการลดต้นทุนทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนในการประชาสัมพันธ์สามารถลดลงได้มาก หากเปลี่ยนมาใช้การประชาสัมพันธ์ทางอินเตอร์เน็ต

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านสามารถรับมือกับแรงผลักดันทางด้านต้นทุนได้ดีขึ้น

27 ก.พ. 2551

ชำแหละต้นทุนบริษัทด้วยหลัก ABC

ชำแหละต้นทุนบริษัทด้วยหลัก ABC

คอลัมน์ L&S HUB

ABC ย่อมาจากคำว่า "Activity-Based Costing" หมายความถึง "การคำนวณต้นทุนกิจกรรม" ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้ "กิจกรรม" เป็นฐานในการคำนวณ โดยปกติองค์กรส่วนใหญ่ใช้การคำนวณต้นทุนแบบดั้งเดิม โดยพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่าย 4 ประเภทหลัก คือ ค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากร ด้านพื้นที่ใช้สอย ด้านเครื่องจักรอุปกรณ์และด้านวัสดุสิ้นเปลือง

เมื่อเปรียบเทียบการคำนวณต้นทุนแบบดั้งเดิมกับการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) ในการคำนวณต้นทุนกิจกรรมในขั้นแรกจะต้องมีการจำแนกเนื้องานตามกิจกรรมที่ปฏิบัติจริง

เมื่อแยกเป็นรายกิจกรรมได้แล้ว จึงจะพิจารณาค่าใช้จ่ายใน 4 ปัจจัยหลัก คือ ด้านบุคลากร พื้นที่ใช้สอย เครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลืองของแต่ละกิจกรรม

จะเห็นได้ว่า "การคำนวณต้นทุนกิจกรรม" เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของต้นทุนที่เกิดขึ้นในรายละเอียดตามเนื้องานที่ปฏิบัติจริง ซึ่งเรียกว่า "ต้นทุนต่อหน่วย" หากนำต้นทุนต่อหน่วย มาคูณด้วยจำนวนครั้งที่ทำกิจกรรมนั้น จะได้ต้นทุนโดยรวมของแต่ละกิจกรรม

ตัวอย่างการจ่ายสินค้าของบริษัท A จะช่วยให้เข้าใจในวิธีการคำนวณต้นทุนกิจกรรมในรายละเอียด หากบริษัท A มีลูกค้า 3 ราย คือ บริษัท X บริษัท Y และบริษัท Z โดยปริมาณการสั่งซื้อสินค้า สินค้าชนิดหนึ่งในเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาของลูกค้าแต่ละราย มีจำนวน 100 ชิ้นเท่ากัน แต่จำนวนการสั่งซื้อและปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้งของลูกค้าแต่ละรายไม่เท่ากัน

เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่แตกต่างกันทำให้วิธีการจ่ายสินค้าจากคลังสินค้าเพื่อส่งมอบให้ ลูกค้าแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของการจ่ายสินค้าแตกต่างกันไปด้วย เช่น ถ้าสินค้าของบริษัท A ที่ขายให้แก่บริษัททั้งสาม มีปริมาณบรรจุกล่องละ 20 ชิ้น ฉะนั้นการขายสินค้าให้กับบริษัท Z น่าจะมีต้นทุนสูงที่สุด

เนื่องจากแม้ยอดขายจะเท่ากันกับบริษัทอื่น แต่ปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้งโดยไม่สามารถจ่ายออกมาเป็นกล่องได้ เนื่องจากปริมาณน้อยเกินไป เมื่อนับจำนวนครั้งในการทำกิจกรรมการจ่ายสินค้าออกจากคลังสินค้าจึงมีจำนวนสูงกว่าบริษัทอื่น

หากนำต้นทุนเฉลี่ยของการจ่ายสินค้าออกจากคลังสินค้าแต่ละครั้งมาคูณกับจำนวนครั้งของกิจกรรม จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมที่เกิดขึ้นสูงกว่าบริษัทอื่น

อย่างไรก็ตามวิธีการสั่งซื้อ ปริมาณการสั่งซื้อ ตลอดจนจำนวนครั้งของการสั่งซื้อล้วนเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งทางบริษัทผู้ขายไม่สามารถกำหนดได้ แต่อาจนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมการซื้อให้เอื้อประโยชน์ต่อการลดต้นทุนของกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นได้ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้า เพื่อให้ทั้ง สองฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่องของต้นทุนที่เกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเจรจาตกลงทางธุรกิจที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของบริษัท Z สูงกว่าบริษัท X และบริษัท Y หรือไม่ เพียงใด บริษัทผู้ขายสามารถ ใช้วิธีการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) มาใช้ โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้

เนื่องจากสินค้าที่มีขนาดบรรจุกล่องละ 20 ชิ้น หากปริมาณการสั่งซื้อเป็น 20 ชิ้น จะสามารถจ่ายสินค้าออกจากคลังได้ทั้งกล่อง (case picking) แต่ถ้าปริมาณการสั่งซื้อน้อยกว่า 20 ชิ้น การจ่ายสินค้าออกจากคลังเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า จะต้องทำเป็นชิ้นตามจำนวนที่สั่งซื้อ (piece picking) และหากปริมาณการสั่งซื้อมากกว่า 20 หรือ 40 หรือ 60 ชิ้น

การนำสินค้าออกจากคลังจะสามารถจ่ายออกมาได้เป็นกล่อง และที่เหลือจึงนำออกมาเป็นจำนวนชิ้นตามคำสั่งซื้อ

อนึ่ง กิจกรรมในการนำสินค้าออกมาจากคลังสินค้าประกอบด้วย ต้นทุนการจ่ายสินค้าเป็นชิ้น และ/หรือต้นทุนการจ่ายสินค้าเป็นกล่องตามแต่กรณี รวมถึงต้นทุนในการดำเนินการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า ดังรายละเอียดในตาราง 1 และ 2 ตามลำดับ

ต้นทุนต่อการปฏิบัติงานหนึ่งครั้งหรือต้นทุนต่อหน่วย ในแต่ละกิจกรรมกำหนดไว้ดังนี้ การจ่ายสินค้าออกเป็นชิ้น 10 เยน/ชิ้น, การจ่ายสินค้าออกเป็นกล่อง 15 เยน/กล่อง, การดำเนินการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า 50 เยน/ครั้ง ดังนั้นต้นทุนของลูกค้าแต่ละราย จะคำนวณโดย "ต้นทุนต่อหน่วย X ปริมาณ" ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ดังแสดงในตาราง 2

ผลลัพธ์จากการคำนวณที่ได้แสดงว่า ถึงแม้ยอดขายของลูกค้าแต่ละรายจะเท่ากัน แต่ต้นทุนโลจิสติกส์จำแนกตามกิจกรรมที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้กำไรสุทธิที่ได้จากลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกัน

จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าแม้จะพิจารณาจากกิจกรรมการจ่ายสินค้าจากคลังสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าเพียงกิจกรรมเดียว มีต้นทุนแตกต่างกันถึง 1,175 เยน คือมีตั้งแต่ 325 เยน จนถึง 1,500 เยน ดังนั้น หากพิจารณาถึงต้นทุนในกิจกรรมอื่นๆ จะพบความแตกต่างของต้นทุนโดยรวมมากยิ่งขึ้น

จากผลการคำนวณสามารถระบุต้นทุนเป็นตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของต้นทุน จะช่วยให้บริษัทสามารถหามาตรการในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ จะส่งผลให้บริษัทได้ผลกำไรสูงขึ้นในที่สุด

จากการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) ทำให้ทราบว่าผลกำไรที่ได้จากลูกค้าแบบบริษัท Z ต่ำกว่าผลกำไรจากลูกค้ารายอื่น เนื่องจากการสั่งซื้อแต่ละครั้งมีปริมาณน้อย แต่มีจำนวนครั้งในการสั่งซื้อสูง เป็นจุดที่ควรจะได้รับการแก้ไข

แต่หากใช้วิธีการบันทึกต้นทุนแบบดั้งเดิม ที่แบ่งตามประเภทรายการค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการแทบจะไม่ทราบถึงความแตกต่างของต้นทุนที่เกิดขึ้น

แรงผลักดันทางด้านต้นทุน เราจะรับมืออย่างไร?

แรงผลักดันทางด้านต้นทุน เราจะรับมืออย่างไร?

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีความเสี่ยงอยู่มากพอสมควร ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอันได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากการได้รับใบแดงของประธานสภาผู้แทนรษฎร กำลังซื้อของภาคประชาชนที่ถดถอย การถดถอยของเศรษฐกิจอเมริกา และที่สำคัญที่สุดคือแรงกดดันจากราคาน้ำมัน ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิต ในขณะที่กำลังในการจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความระมัดระวัง รวมถึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งแนวทางในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวสามารถกระทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ โดยผมจะเสนอแนวทางแบบทั่วไป ที่สามารถกระทำได้ในทุกองค์กร

1. ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและแสงสว่าง ซี่งทุกองค์กรต้องใส่ใจมากขึ้น แม้จะเป็นต้นทุนส่วนน้อย แต่ก็สามารถลดได้ง่ายที่สุด ถ้าอยากจะให้ได้ผลมากขึ้นต้องมีการกำหนดเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และส่งมอบเป้าหมายเหล่านั้นให้พนักงานทุกคนร่วมกันรับผิดชอบ

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ด้วยการลดจำนวนของเสียจากการผลิต ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งอาจจะนำเครื่องมือ อาทิ 5ส. หรือ Six Sigma มาใช้จะช่วยทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. วิจัยความต้องการของตลาด แม้ว่าการวิจัยทางการตลาดจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่รับรองได้ว่าจะช่วยทำให้บริษัท ดำเนินกิจการไปในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลดีกับบริษัทในระยะยาว

4. เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Logistic อาทิ ลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า

5. ลดการ Stock สินค้า มากเกินกว่าความจะเป็น ด้วยการนำเทคนิค "การสั่งสินค้าประหยัดสุด" มาใช้ ซึ่งต้องเริ่มจากการจัดเก็บข้อมูลการขายและการสั่งสินค้าที่ชัดเจน ประเด็นนี้ผู้ประกอบรายย่อยมักจะละเลยทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

6. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ด้วยการสร้างความแตกต่างกับสินค้า หรือการสร้างห่วงโซ่มูลค่าในขั้นตอนต่างๆ

7. ลดขนาดของสินค้าแทนการเพิ่มราคา เพราะกำลังซื้อที่ลดลง การเพิ่มราคาสินค้าจะยิ่งทำให้ความต้องการลดลง

พรุ่งนี้มาว่ากันต่อส่วนที่เหลือครับ

26 ก.พ. 2551

สุดยอดภาวะผู้นำ

สุดยอดภาวะผู้นำ

คอลัมน์ Book is capital

เหตุที่ทำให้ต้องอ่านต่อหนังสือ "สุดยอดภาวะผู้นำ" หรือ Super Leadership ของ "ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์" เพราะสะดุดคำโปรยปีกปกที่ว่า

...เราไม่ได้ขาดแคลนคนที่นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้นำ แต่ขาดแคลนคนที่มี "ภาวะผู้นำ" ในตำแหน่งที่ต้องนำมากกว่า...

"ดร.เกรียงศักดิ์" บอกว่า เรื่องการเป็นผู้นำนั้นมีอยู่ 5 ก้าว

ก้าวแรก เตรียมตัวเตรียมใจก่อน "นำ" ก้าวที่สอง ตระหนักชัดต้องนำคน ก้าวที่สาม อำนาจต้องใช้ให้เป็น ก้าวที่สี่ นำคนไปสู่เป้าหมาย และก้าวที่ห้า อย่าหยุดพัฒนาในการ "นำ"

อะไรคือหน้าที่ของผู้นำ ?

"หน้าที่ของผู้นำคือการสร้างคน ไม่เพียงแต่สร้างงานที่ทำ ต้องสร้างคนด้วย ต้องทำให้เขาเติบโตอย่างมีศักยภาพ เพื่อให้องค์กรก้าวหน้า แข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต"

พอล เฮอร์ซีย์ และเคน บองคาร์ด สองผู้นำที่มีชื่อเสียงในแวดวงบริหารองค์กรย้ำว่าความสำคัญของผู้นำ คือการสร้างทีมงาน ฉะนั้นผู้นำต้องนำทีมงานเป็น

แล้วจะนำอย่างไร ?

สองผู้นำแนะนำว่า มี 4 ขั้นตอน และเป็นขั้นตอนที่ไม่น่าจะยากเย็นอะไร

ขั้นแรกคือ "ชี้ทิศทาง" บทบาทของหัวหน้างานในชั้นนี้ ควรเล่นบทบาทในการให้ทิศทาง เพื่อให้ทุกคนรู้ว่างานที่ทำนั้นจะก้าวหน้าไปอย่างไร

ขั้นที่สอง "สานสัมพันธ์" เมื่อทุกคนในทีมรู้ทิศทางแล้วว่า จะต้องรับผิดชอบอะไร หน้าที่ต่อไปของผู้นำ คือการสนับสนุนให้แต่ละคนในทีมทำความรู้จักกันและกันให้ดียิ่งขึ้น เพราะจะช่วยให้สัมพันธภาพภายในกลุ่มเข้มแข็ง มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ขั้นที่สาม "สร้างพันธะผูกพัน" ผู้นำจะต้องเน้นให้สมาชิกทุกคนภายในทีมเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันให้ดีที่สุด โดยการแบ่งปันความรับผิดชอบ และพูดคุยเกี่ยวกับเป้าหมายของงานที่ต้องทำร่วมกันว่าต้องการทำอะไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน

และขั้นที่สี่ "แนะนำและทำให้ดู ผู้นำต้องทำหน้าที่เหมือนมัคคุเทศก์ และเป็นเหมือนโค้ชให้กับทุกคนในทีม"

"พาไป ทำให้ดู ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา เพื่อให้ทุกคนในทีมเกิดความมั่นใจใน การเริ่มต้นคิดงานเหล่านั้นด้วยทีมของเขาเอง"

เมื่อผู้นำนำครบทั้งสี่ขั้นตอนนี้แล้วผลที่เห็นได้คือจะเกิดทีมงานที่มีวุฒิภาวะ

และเมื่อทีมงานมีวุฒิภาวะแล้วการขับเคลื่อนงานขององค์กรย่อมสมูทขึ้นอย่างแน่นอน

25 ก.พ. 2551

จีนจัดแคมเปญใหญ่ ยกระดับคุณภาพสินค้า“Made in China”

จีนจัดแคมเปญใหญ่ ยกระดับคุณภาพสินค้า“Made in China”

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 4 กุมภาพันธ์ 2551 15:03 น.

หลังจากสินค้า “Made in China” ที่ออกวางจำหน่ายในสหรัฐฯ ถูกสกัดด้วยการออกข่าวว่ามีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์รวมทั้งเป็นสินค้าอันตรายกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ เนื่องจากเป็นของเล่นเด็กเป็นส่วนใหญ่ ไปจนถึงยาสีฟัน จนกระแสการต่อต้านสินค้าจากจีนแพร่ระบาดออกไปทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการในจีนไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้อีกต่อไป

เมื่อปลายปีที่แล้วทางการจีนได้ตัดสินใจออกแคมเปญใหญ่ที่มุ่งเน้นการเร่งพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า “Made in China” มีระยะเวลายาวนานถึง 4 เดือนเต็มๆ โดยมีเป้าหมายเรียกคืนความเชื่อมั่นของตลาดโลกต่อสินค้าที่ระบุแหล่งผลิตว่ามาจากจีนอย่างจริงจัง

ปัญหาที่เกิดกับแบรนด์ “Made in China” มาจากประเด็นหลักๆ คือ หดหายไปทำให้เกิดการทำลายมูลค่าของแบรนด์ (Brand Value) จนกระทบถึงความยั่งยืนของกิจการ กับเรื่องกลยุทธ์การบริหารแบรนด์มีความผิดพลาดเพราะความใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้เสียน้อยมาก ไปจนถึงระดับความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibilitation) อยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ด้วยเหตุนี้การออกแคมเปญพลิกฟื้นมูลค่าของแบรนด์ “Made in China” ครั้งนี้ของทางการจีนจึงมีความสำคัญ และเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่ทำได้ยากเพราะเป็นมาตรการเชิงแก้ไขที่ทำกับตลาดโลกในทุกประเทศไม่ใช่แค่เพียงภายในประเทศ ทั้งที่เรื่องของการธำรงรักษาแบรนด์นั้นควรเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่ทำเผื่อเอาไว้แต่แรก ไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่แรก

แคมเปญที่ว่านี้ เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงเดือนธันวาคม โดยประกอบด้วยการดำเนินการดังนี้

ประการแรก การกดดันให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารเข้ามารับการตรวจสอบให้ผ่านมาตรฐานด้วยคุณภาพ

ซึ่งทำได้ไม่น้อยกว่า 98,000 ราย ในช่วง 4 เดือนที่ว่านี้ ประการที่สอง การออกมาตรการเชิงบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารขนาดเล็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายลงนามในความร่วมมือ และข้อตกลงจะปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้เข้าข่ายตามมาตรฐานระดับสากล ซึ่งผู้บริหารที่สามารถทำได้มีจำนวน120,000 ราย ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่ไม่ค่อยเป็นกลุ่มเสี่ยงเท่าใดนัก เพราะมักคำนึงถึงมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือพูดง่ายๆว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และให้คำสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่ใช้ได้อยู่แล้ว

ที่จริงก่อนหน้าที่ทางการของจีนจะออกแคมเปญในช่วงดังกล่าวได้เคยมีการออกแคมเปญเพื่อรณรงค์เรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่เป็นการทุ่มเทงบประมาณเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับรู้ ตระหนัก และใส่ใจกับปัญหาความน่าเชื่อถือของแบรนด์ “Made in China” ที่เกิดขึ้นในตลาดโลก เป็นการสื่อสารในวงกว้างในหลายระดับ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ใกล้เคียงกับที่ทางการเคยใช้ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคซาร์ในช่วงปี 2002 -2003

แม้ว่าจะมีแคมเปญออกมาเป็นรายการใหญ่ๆ ขนาดนี้ แต่ในมุมมองของนักการตลาดยังมีความเห็นว่าเพียงแคมเปญเท่านั้นไม่ถือว่าเพียงพอ ทั้งนี้เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่มาก จำนวนผู้ประกอบการกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากมายทั่วประเทศ ขณะที่การดำเนินมาตรการต่างๆของทางการจีนเองก็ยังไม่ค่อยมีความโปร่งใส หรือสะท้อนภาพของความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกอย่างแท้จริง ดูง่ายๆ ก็คือทางการส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพิเศษเข้าไปตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าที่มีความสุ่มเสี่ยงสูงถึงกว่า 1,187 ราย ในภาคอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบต่อสาธารณชนให้รับรู้ว่ามีการพบประเด็นที่น่าวิตกหรือไม่ และมีการสั่งการหรือการแก้ไขปัญหากลุ่มที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างไร แถมยังมีกระแสข่าวออกมาว่ามีคนราว 1,480 คน ที่ถูกสอบสวนและราว 64 คน ที่ถูกจับกุมเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านการผลิตยา

นอกจากนั้นนักการตลาดยังมองว่าการออกแคมเปญปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ “Made in China” ครั้งนี้ เป็นการมองการไกลและเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะยังมีประเด็นของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในเดือนสิงหาคมปีนี้ด้วย ซึ่งจากการสำรวจทัศนคติของผู้ที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมชมการแข่งขันโอลิมปิกพบว่าสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังกังวลก็คือ ความปลอดภัยของอาหารโครงการแคมเปญ “อาหารปลอดภัย” หรือ Food Safety จึงเป็นเงื่อนไขที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า กระแสข่าวก่อนหน้านี้เรื่องนมผงสำหรับเด็กที่ปลอม เครื่องปรุงอาหารไม่ได้คุณภาพ และอาหารพร้อมปรุงพวกที่ใช้สีเคมีที่เป็นอันตราย

23 ก.พ. 2551

น้ำมันแตะ 50 บาท ?

น้ำมันแตะ 50 บาท ?


--------------------------------------------------------------------------------
สุกรี แมนชัยนิมิต
Positioning Magazine มกราคม 2551

7 มกราคม 1999 คนขับรถเก๋งยังเติมเบนซิน 95 ราคาลิตรละ 10.35 บาท ผ่านไป 8 ปี ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2007 เติมกันที่ลิตรละ 32.49 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ทำให้บางคนเคยเติมน้ำมันจ่ายเพียงเดือนละ 3,000 บาท ต้องจ่ายเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน แม้บางคนได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 10% แต่ก็ยังชดเชยไม่ได้กับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 300%

นี่คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของแต่ละคนในแต่ละวัน ซึ่งหลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนจะรู้กันเป็นอย่างดีว่า นับจากนี้ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาขึ้นเท่านั้น จนมีการพูดถึงราคาขายปลีกกันที่ 40-60 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดิบทะลุเกิน 100 หรืออาจถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหากเกิดภาวะสงคราม เพราะฉะนั้นปี 2008 คืออีกปีหนึ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับเทรนด์ราคาน้ำมัน

จีน-อินเดียโตดันน้ำมันพุ่ง

แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัว และมีปัญหาไม่จบสิ้น ตั้งแต่ปัญหาซับไพร์มโลน มาจนถึงภาวะเงินเฟ้อ จนฉุดกำลังซื้อ กดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเหลือเพียงประมาณ 2% ต่อปีเท่านั้น แต่อีกมุมหนึ่งของโลกอย่างจีนและอินเดีย และตะวันออกกลางกลับมีการลงทุนจนเศรษฐกิจขยายตัวตั้งแต่ 8-10% โดยเฉพาะการเติบโตจากการส่งออกสินค้า ที่ประเทศเหล่านี้มักจะชดเชยราคาน้ำมัน เพื่อคุมต้นทุนผู้ผลิตสินค้าส่งออก ซึ่ง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปว่า ความต้องการใช้น้ำมันในโลกยิ่งสูง ราคาน้ำมันก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อน้ำมันแพงมาก คนจะประหยัดมากขึ้น จะทำให้ความต้องการชะลอตัวลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่

เกมโอเปก

การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2007 ที่มีมติไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลก เป็นผลที่ “ปิยสวัสดิ์” อ่านเกมว่า เป็นการบอกให้โลกรับรู้ว่าประเทศกลุ่มโอเปกต้องการ หรือมีความพอใจระดับราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ในขณะนั้นคือ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะเป็นการเป็นประชุมและตัดสินใจอย่างรวดเร็วภายใน 45 นาทีเท่านั้น

สาเหตุที่โอเปกต้องการคงระดับราคาน้ำมันสูงไว้ เพราะประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกที่ส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลางมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากการลงทุนโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องหารายได้

นอกจากนี้หลายประเทศกำลังการผลิตลดลง และไม่มีแหล่งน้ำมันแหล่งใหม่ ดังนั้นจึงเป็นช่วงหารายได้ เพื่อเก็บเงินไว้

ความมั่นใจของโอเปกที่จะตรึงกำลังการผลิตเพื่อให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 90-100 เหรียญสหรัฐ ยังเป็นเพราะเห็นว่าโลกยังไม่มีพลังงานทดแทนอื่นมาใช้ หลายโครงการไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าหลายเท่า ส่วนพลังงานจากไบโอดีเซลก็ยังต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการสร้างและผลิต เช่น ไบโอดีเซลจากปาล์ม จึงจะเพียงพอต่อความต้องการใช้

“ปิยสวัสดิ์” สรุปว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผันผวนเพียงใด จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของโอเปกเป็นสำคัญ

แนวโน้ม 200 เหรียญสหรัฐ

ไม่เพียงเท่านั้นโอเปกยังออกมาขู่ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งไปถึงระดับ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากเกิดภาวะสงคราม เพราะขณะนี้ในตะวันออกกลางยังคงระอุ และไม่เพียงแค่ราคาแพงเท่านั้น แต่ยังจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบทั่วโลก หากมีการปิดเส้นทางขนส่งในช่องแคบเฮอมุสในตะวันออกกลางซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ ทำให้น้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลก 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นการผลิต 20% ของโลก

เมื่อ 5 ปีที่แล้วราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้แตะ 100 เหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบ 200 เหรียญต่อบาร์เรล ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดไม่ได้ หากเกิดขึ้นเท่ากับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอาจพุ่งไปที่ระดับ 40-60 บาทต่อลิตร

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ การเล่นเกมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ตลาดหุ้นไร้ความเชื่อมั่น จนกองทุนต่างชาติหันมาเก็งกำไรกับราคาน้ำมันมากยิ่งขึ้น

ประหยัด-ทางรอดคนไทย

ปี 2007 ประเทศไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันทุกประเภทประมาณ 800,000 ล้านบาท แม้จะไม่สูงจากปี 2006 และยังไม่สามารถคาดการณ์ปัจจัยภายนอกประเทศได้ว่าจะดันราคาน้ำมันปี 2008 จะไปถึง 200 เหรียญสหรัฐหรือไม่

“ปิยสวัสดิ์” บอกว่า มาตรการที่ช่วยลดการใช้น้ำมันได้ดีคือการปล่อยให้ราคาน้ำมันสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง เปรียบเทียบได้ในปี 2004 ที่รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาน้ำมัน โดยนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลงมาชดเชยราคาขายปลีก ทำให้มียอดนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% แต่เมื่อปี 2005 เริ่มใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน ทำให้นำเข้าลดลง 6% และปี 2006 นำเข้าลดลง 5% และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2007 ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2006

ในกรณีนี้คือหากรัฐบาลใหม่ต้องการสะสมแต้มเพื่อความอยู่รอดและใช้นโยบายเดิมในการชดเชยราคาน้ำมันอีก อาจทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ประเทศจะมีภาระหนี้ในระยะยาว

นอกเหนือจากความประหยัดแล้ว การหาพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน ยังเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งปี 2008 กระทรวงพลังงานมีแผนนำน้ำเสียและขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานใช้แทนน้ำมัน แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) และไฟฟ้า โดยใช้งบประมาณกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 4,781 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 760 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5,400 ล้านบาท