30 ม.ค. 2551

ตัวอย่างการใช้ 5 ส. ในการจัดการสำนักงาน (ต่อ)

วันนี้ต่อจากเมื่อวานครับ เหลืออีก 8 ข้อ
6. จัดระเบียบตู้เอกสารและโต๊ะทำงาน
ควรมีการจัดระเบียบและทำความสะอาดอย่าง น้อยเดือนละครั้ง โดยการขจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็น จัดแยกของที่จำเป็นให้เป็นระเบียบ ตู้เอกสารและลิ้นชักโต๊ะทำงาน มักมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นอยู่เสมอ หรือบางทีก็มีมากเกินความจำเป็นต่อการใช้งาน จึงควรมีการจัดการทิ้งบ้างตาม สมควร สำหรับโต๊ะทำงานนั้นควรมีการจัดระเบียบทุกครั้งหลังเลิกงานประจำวัน
7. จัดระเบียบป้ายประกาศต่างๆ
ตามบอร์ดติดประกาศ ควรมีการจัดระเบียบและทำความสะอาดอยู่เสมอ เอาประกาศที่ ล้าสมัยออกเสียบ้าง การติดประกาศควรติดให้เป็นระเบียบ อยู่ในระดับสายตาเพื่อให้น่าสนใจ และพนักงานบริษัทควรถือเป็นหน้าที่ที่ต้องอ่านประกาศทุกวันตอนเริ่มงานและหลังเลิกงาน การใช้วิธีติดประกาศเพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ นั้น ยังช่วยลดปริมาณการถ่ายเอกสารลงได้อีกด้วย
8. จัดการสิ่งแวดล้อมในหน่วยงาน
ทำการขจัดสิ่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะต่างๆ ออกไป เช่น ฝุ่น ผง ควัน ขยะมูลฝอย ควรจัดที่ทิ้งขยะให้เป็นสัดส่วน มีการ กำจัดขยะทุกครั้งหลังเลิกงาน และไม่ควรนำสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการทำงานเข้ามาในสถานที่ทำงาน
9. มีการติดป้ายคำขวัญในหน่วยงาน
เช่น ป้ายคำขวัญของบริษัท นโยบายคุณภาพของบริษัท สโลแกนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบในสำนักงาน ควรติดไว้ให้พนักงานได้เห็นเด่นชัด เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและปลุกจิตสำนึกในการร่วมมือกัน
10. การจัดแบ่งส่วนรับผิดชอบในการทำความสะอาด
อาจจัดให้มีการประกวดให้รางวัล สำหรับส่วนงานที่มีการจัดระเบียบหรือทำ 5 ส. ได้ดีที่สุดในแต่ละปี หรือแต่ละเดือน เพื่อให้เป็นการกระตุ้นพนักงานอยู่เสมอ มีการติดป้ายประกาศชมเชยพนักงานที่มีระเบียบวินัย ในการทำงาน ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมขององค์การด้วยดีเสมอมา เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจ
11. ติดประกาศผลดีของการทำ 5 ส.
เมื่อดำเนินการกิจกรรม 5 ส. ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ควรมีการติด ประกาศให้พนักงานทราบถึงผลดีของการทำ 5 ส. ว่าสามารถลดเวลาในการทำงานได้มากน้อยเพียงใด ความสะดวกที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างไร หรืออาจจะทำกราฟแสดงเวลาการค้นหาสิ่งของ หรือเวลาที่ใช้ในการติดต่อลูกค้าที่ลดลง ตลอดจนประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากการจัดทำหน่วยงานให้เป็นระเบียบ เพื่อให้พนักงานได้รับทราบ มีขวัญและกำลังใจในการปรับปรุงงานเพิ่มมากขึ้น
12. จัดให้มีระบบข้อเสนอแนะในการทำงานและการปรับปรุงงาน
อาจจะกระทำได้โดยการทำกล่องรับข้อเสนอแนะไว้ และให้รางวัลแก่ผู้เสนอแนะทุกคน ถ้าข้อเสนอแนะใดสามารถกระทำได้ก็ควรนำไปปฏิบัติทันที ขวัญและกำลังใจของพนักงาน จะสามารถวัดได้จากจำนวนข้อ เสนอแนะที่ได้
13. ผู้บังคับบัญชา ควรมีการทักทายปราศรัยกับพนักงานทุกวัน
เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะหรือความเดือดร้อนต่างๆ ของพนักงาน แล้วนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเท่าที่ทำได้ จะทำให้พนักงานมี กำลังใจในการทำงานมากขึ้น

29 ม.ค. 2551

ตัวอย่างการใช้ 5 ส. ในการจัดการสำนักงาน

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า 5ส มานานพอสมควรแล้ว แต่อาจจะไม่เคยนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งไกลตัว วันนี้ผมอยากยกตัวอย่างในการนำ 5ส มาใช้ในสำนักงานของท่าน เริ่มต้นอาจจะยากสักนิดแต่หลังจากจัดทำเสร็จแล้วเชื่อว่าการทำงานของท่านจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. การจัดวางโต๊ะทำงาน
ให้จัดโต๊ะเรียงลำดับกันตามลำดับของ เอกสารที่จะต้องผ่าน และให้อยู่ใกล้กันในลักษณะที่เหมือนกับสายการประกอบในโรงงานอุตสาหกรรม (Assembly Line) เพื่อทำให้การไหลของเอกสารเป็นไปได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถลดความสับสนในการส่งเอกสาร และการติดต่องานให้ลดลงได้
2. การจัดระบบการเข้า - ออก ของเอกสาร
พยายามจัดให้ขั้นตอนของเอกสาร ผ่านโต๊ะต่างๆ ให้น้อยที่สุด ในลักษณะของการบริการจุดเดียว (ONE-POINT SERVICE) จะทำให้สามารถทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้มาจาก กระบวนการผลิตที่จัดให้วัตถุดิบไหลเข้าสู่สายการผลิต โดยใช้เวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ผลิตภัณฑ์ ถึงมือลูกค้า ปัจจุบันการบริการของธนาคารต่างๆ ก็หันมาใช้ระบบแบบนี้ ซึ่งมักจะใช้พนักงานเพียงคนเดียวในการรับ-จ่ายเงิน แทนที่จะต้องมีการตรวจสอบกัน 2 - 3 โต๊ะอย่างในสมัยก่อน
3. การจัดแฟ้มเอกสาร
3.1) การแยกประเภทของเอกสาร เอกสารต่างๆ สามารถแยกออกได้เป็น เอกสารที่ใช้ประจำ, เอกสารที่ใช้ตามช่วงเวลา, และเอกสารที่ใช้ในกรณีพิเศษ การจัดเก็บเอกสารประเภทต่างๆ นั้น มีวิธีการดังนี้
ก. แฟ้มเอกสารที่ใช้ประจำ เช่น ใบราคา รายชื่อที่อยู่ของลูกค้าประจำ ฯลฯ ให้จัดไว้ในชั้นที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้มากที่สุด และจัดให้อยู่ในระดับสูงจากเข่าถึงบ่าของผู้ใช้ จะทำให้การหยิบใช้และจัดเก็บทำได้สะดวก รวดเร็ว ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายด้วย
ข. แฟ้มเอกสารที่ใช้ตามช่วงเวลา เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งจ่ายเงิน เพื่อใช้สำหรับการคิดภาษี และแฟ้มเอกสารที่ใช้ในกรณีพิเศษ เช่น กฎระเบียบบริษัท กฎหมายต่างๆ ที่ เกี่ยวข้อง เป็นต้น ควรจัดเก็บในชั้นที่แยกต่างหาก ห่างจากสถานที่ที่เก็บเอกสารประจำ เพื่อที่จะได้เพิ่มพื้นที่ทำงานให้มากขึ้น
3.2) การจัดเอกสารเป็นหมวดหมู่ เมื่อแบ่งประเภทของเอกสารได้แล้ว ก็นำมาจัดเป็นหมวดหมู่ โดยระบุเป็นตัวอักษร, ตัวเลข หรือใช้สีของแฟ้มที่แตกต่างกัน หรือใช้เทปสีติดที่สันแฟ้ม จะทำให้ การค้นหาและการจัดเก็บ เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
3.3) การจัดเรียงแฟ้มให้อยู่ตามลำดับในชั้นเก็บ การจัดเก็บแฟ้มเข้าชั้นเก็บ อาจจะมีการเรียงหมายเลข หรือใช้วิธีขีดเส้นทแยง จากแฟ้มแรกจนถึง แฟ้มสุดท้าย จะทำให้การจัดเก็บแฟ้มเข้าที่นั้น ถูกต้องรวดเร็ว แฟ้มไหนที่อยู่ผิดที่จะรู้ได้ทันที และสามารถเอากลับคืนที่เดิมได้ง่าย
3.4) การจัดทำแฟ้มดัชนี (Index File) เป็นแฟ้มที่ระบุรายละเอียดของหมวดหมู่ เอกสาร ซึ่งอาจกำหนดเป็นกลุ่มตัวเลขหรือเป็นกลุ่มตัวอักษร ทั้งหมายเลขของแฟ้มเอกสารและหมายเลขของตู้เก็บเอกสาร ซึ่งแฟ้มดังกล่าวจะบอกว่าเอกสารหมวดหมู่ใด ถูกเก็บไว้ ณ ที่ใด เมื่อต้องการเอกสารก็เพียงแต่เปิดหาที่แฟ้ม ดัชนี ก็สามารถไปหาเอกสารที่ต้องการได้สะดวกและรวดเร็ว ลดเวลาในการค้นหา
4. แบบฟอร์มต่างๆ ที่ใช้ในแต่ละหน่วยงาน
ควรจะมีการทบทวนรูปแบบของเอกสารต่างๆ อยู่เสมอ อาจจะ กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการทบทวนเอกสาร เช่น ปีละครั้ง หรือสองปีต่อครั้ง เพราะแบบฟอร์มที่ใช้งานนานๆ มักมีช่องที่เติมข้อความต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่จำเป็น ไม่เหมาะกับสถานการณ์หรือมีมากเกินไป ควรมีการแก้ไข ให้กะทัดรัด ใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว และสิ้นเปลืองกระดาษน้อยที่สุด
5. การจัดทำรายงานต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน
ควรจัดทำให้สนองต่อความต้องการของผู้ใช้ เนื้อหารายงานควรจะสั้นและตรง จุดประสงค์ที่สุด เพื่อที่ผู้อ่านสามารถจับใจความได้รวดเร็ว และถ้าไม่จำเป็นแล้ว ไม่ควรทำรายงานเกินความจำเป็น

ยังมีเหลืออีก 8 ข้อพรุ่งนี้มาอ่านกันต่อครับ

26 ม.ค. 2551

หลักการกระจายงานเพื่อการบริหาร (Delegation)

การกระจายงานของผู้บริหารนั้น ต้องใช้วิจารณญาณและการวิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้งานที่จะมอบหมายนั้นตรงกับความสามารถและศักยภาพของผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งตะส่งผลให้งานออกมาเป็นที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกันผู้รับงานก็จะมีความสุขและเต็มใจที่ได้ทำงานตามความถนัดของตน (Put the right man in to the right job) ตามหลักความเป็นจริงแล้วเราต้องยอมรับว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของเรานั้น มีศักยภาพและความสามารถที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะทำงานในแผนกเดียวกันหรือตำแหน่งความรับผิดชอบเหมือนกันก็ตาม ดังนั้นการวิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อการกระจายงานจึงถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้
M = Maturity Level (ระดับของวุฒิภาวะ)
M1 คือ กลุ่มพนักงานที่ขาดทั้งความรู้และขาดทั้งความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นการมอบหมายงานให้กลุ่มนี้จะต้องคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ในงานที่มอบหมายให้จะต้องชี้แจงให้รายละเอียดอย่างมาก และที่สำคัญกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบน้อยมากเราจำเป็นจะต้องมีวิธีการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เรารับผิดชอบในงานที่มอบหมายค่อนข้างสูง เมื่อมอบหมายงานไปแล้วต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กลุ่มนี้อาจเปรียบได้กับพนักงานเข้าใหม่ที่ไร้ซึ่งแรงจูงใจในการทำงาน
M2 คือ กลุ่มพนักงานที่ขาดความรู้แต่มีความรับผิดชอบและมีแรงจูงใจ มีความตั้งใจในการทำงานสูง ดังนั้นการมอบหมายงานให้กลุ่มนี้จะต้องคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือในเรื่องความรู้ในงานที่มอบหมายให้โดยละเอียด แต่เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความรับผิดชอบสูงและมีความตั้งใจในการทำงานมากพออยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องคอยกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจเท่าใดนัก กลุ่มนี้อาจเปรียบเทียบได้กับพนักงานเข้าใหม่ที่มีไฟในการทำงานสูง
M3 คือ กลุ่มพนักงานที่มีความรู้ดีแต่มีความรับผิดชอบและมีแรงจูงใจในการทำงานค่อนข้างน้อย กลุ่มนี้เราคงไม่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับงานที่มอบหมายเพราะเขาจะเป็นกลุ่มที่รู้งานดีอยู่แล้วเพียงแต่ขาดแรงจูงใจ และขาดความตั้งใจในการทำงานเท่านั้นเอง หน้าที่ของเราหลังจากมอบหมายงานให้เขาแล้วคงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่คอยติดตามความคืบหน้าของงาน และให้กำลังใจพร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เขามีความรู้สึกอยากทำงานให้ลุล่วงเท่านั้นเอง กลุ่มนี้อาจเปรียบได้กับกลุ่มพนักงานที่ทำงานมานาน จนขาดความตื่นตัวในการทำงานและรู้จักหาวิธีหลบเลี่ยงความรับผิดชอบได้อย่างมีเหตุผล เราอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเคี้ยวลากดิน
M4 คือกลุ่มพนักงานที่มีความรู้ดีและมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ดังนั้นกลุ่มนี้เมื่อได้รับมอบหมายงานให้แล้ว เราคงสามารถเบาใจและเหนื่อยน้อยที่สุด เพราะเราเพียงแต่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่คอยดูอยู่ห่างๆ รอให้เขารายงานผลการทำงานและให้คำปรึกษาหากเขาต้องการเท่านั้นเอง กลุ่มนี้อาจเปรียบได้กับกลุ่มคนที่ทำงานมานานและมีความคงเส้นคงวาในการทำงานสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองได้ค่อนข้างดี

25 ม.ค. 2551

ข้อคิดสำหรับการบริหารเวลา

ทรัพยากรอย่างหนึ่งที่ทุกคนบนโลกนี้ไม่ว่าใครก็มีเท่ากัน นั้นคือเวลา แต่ความสามารถในการจัดการเวลาของแต่ละบุคคลย่อมมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน วันนี้อยากจะเสนอแนวทางหนึ่งในการจัดสรรเวลาของคุณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1. ให้เวลากับตัวคุณเพียงพอสำหรับการทำงานแต่ละงานให้สำเร็จ
2. จัดเวลาว่างไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน สำหรับงานบางอย่างที่เร่งด่วนเข้ามาโดยมิได้คาดคิด
3. คิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือทำงานที่ไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญที่คุณจัดเอาไว้
4. ถามตัวคุณเองในแต่ละวันว่า คุณใช้เวลาให้หมดไปในแต่ละวันอย่างคุ้มค่าหรือไม่
5. รู้จักแยกแยะระหว่างงานเร่งด่วน กับงานที่สำคัญ
6. งานบางอย่างอาจเร่งด่วนแต่อาจไม่สำคัญ
7. จำไว้เสมอว่าการบริหารความสมดุลทางเวลานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการวางแผนและจัดตารางการใช้เวลาไปกับงานที่มีค่าต่อความเจริญก้าวหน้าและส่งผลต่อการพัฒนาองค์กร

24 ม.ค. 2551

เทคนิคการบริหารงานเพื่อความสำเร็จ

เทคนิคการบริหารงาน
แนวทางในการบริหารงานเพื่อความสำเร็จประกอบด้วย
1. การวางแผน (Planning)
2. ดำเนินการ (Implementing)
3. ควบคุม (Controlling)
4. ติดตามผล (Follow up)
5. สนับสนุน (Supporting)
6. ตรวจสอบ (Checking)

การวางแผน (Planning)
1. กำหนดเป้าหมายของงาน
2. กำหนดหัวข้องาน
3. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงาน
4. กำหนดความรับผิดชอบของสมาชิกภายในทีม
5. กำหนดระยะเวลาที่จะต้องใช้ไปและกำหนดเวลาเสร็จสิ้น
6. แจกแจงวัสดุ อุปกรณ์ และงบประมาณ

ดำเนินการปฏิบัติ (Implementing)
1. แจกแจงแผนปฏิบัติงาน
2. กระจายงานให้ผู้เกี่ยวข้อง
3. จัดสถานที่และอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน
4. ลงมือปฏิบัติงาน
5. ตรวจ

การควบคุมการปฏิบัติงาน (Controlling)
1. ควบคุมเวลาที่ทำงานในแต่ละหัวข้องาน
2. ควบคุมงบประมาณการใช้จ่าย
3. ควบคุมคุณภาพของงาน
4. ควบคุมอัตรากำลังพลให้เหมาะสมกับงาน
5. ควบคุมวัสดุ อุปกรณ์ ในการทำงาน

ติดตามผล (Follow up)
1. ประเมินผลงานทุกขั้นทุกตอน
2. ประเมินระยะเวลาที่ใช้ให้เป็นไปตามกำหนด
3. ประเมินความคืบหน้าตามแผนงาน
4. ประเมินผลความสำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้

สนับสนุน (Supporting)
1. ให้คำปรึกษา
2. ช่วยแก้ไขปัญหา
3. ให้ความช่วยเหลือ
4. สร้างแรงจูงใจ
5. ให้กำลังใจ

ตรวจสอบ (Checking)
1. ตรวจสอบคุณภาพและปริมาณของงาน
2. ตรวจสอบค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่ใช้ไป
3. ตรวจสอบและประเมินผลงานและความคุ้มค่าโดยรวม

23 ม.ค. 2551

เป้าหมายในการบริหารงานแนวใหม่

ผู้บริหารงานที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักเป็นผู้บริหารที่ยึดติดกับเป้าหมายสูงสุดในภารกิจและความรับผิดชอบของตนเป็นสำคัญ โดยยึดเป้าหมายหลักขององค์กรเป็นแนวทาง ผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการบริหารและการทำงานที่ขัดเจนและสมาชิกในทีมทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายด้วย ทั้งนี้ จะทำให้ทุกคนเกิดอาณัติสัญญาในการก้าวสู่ความสำเร็จร่วมกัน

การกำหนดเป้าหมายการบริหารอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะดังนี้
1. การกำหนดเป้าหมายระยะสั้น (Short Term Goal)
คือการกำหนดเป้าหมายในการทำงานในช่วงวันต่อวัน กล่าวคือในแต่ละวันนั้นมีการตั้งเป้าความสำเร็จของงานเอาไว้อย่างชัดเจน และพยายามทำให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายนั้น
2. การกำหนดเป้าหมายรายอาทิตย์-รายเดือน (Weekly or Monthly Goal)
คือการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่สามารถทำให้สำเร็จลงได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจเป็นภายในสัปดาห์ หรือภายในเดือนที่กำหนดตามความเหมาะสมของเป้าหมายและงาน
3. การกำหนดเป้าหมายระยะยาว (Long Term Goal)
คือเป้าหมายรวมที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคนทุกแผนกในองค์กรต้องช่วยกันรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จแก่องค์กร ซึ่งเป้าหมายนี้นั้นเป็นเป้าหมายที่องค์กรตั้งเอาไว้และไม่อาจสำเร็จลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้นซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและร่วมมือกันของคนภายในองค์กรที่อยากเห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จขององค์กรตัวเอง

ข้อดี 10 ประการในการตั้งเป้าหมาย
1. การตั้งเป้าหมายเป็นการท้าทายผลงานที่ดีกว่าการทำงานแบบไร้จุดหมายและจะนำความสำเร็จมาให้อย่างง่ายดาย
2. ผลที่ได้จากความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จะช่วยให้เกิดแรงศรัทธาในการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น
3. สามารถจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายในการทำงานได้หากมีมากกว่าหนึ่งเป้าหมาย
4. ผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่มักเกิดจากเป้าหมายที่ผู้บริหารกำหนดให้ และที่สำคัญผู้บริหารสามารถตรวจสอบผลงานเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลงานผู้ใต้บังคับบัญชา
5. การตั้งเป้าหมายจึงเป็นส่วนที่สำคัญในการบริหารผลงานผู้ใต้บังคับบัญชา
6. สามารถสร้างแรงจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำงานได้ หากผลการปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย เช่น การกำหนดรางวัลสำหรับผลงานดีเด่นประเภทต่าง ๆ
7. ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บริหารสามารถกำหนดแผนปฏิบัติการของตัวเองได้หากมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน
8. สามารถกำหนดนโยบายขององค์กรและนำไปปฏิบัติใช้เพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายรวมที่ตั้งเอาไว้
9. เป้าหมายในการทำงานจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกัน สนับสนุนและการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ
10. เป้าหมายในการทำงานจะช่วยเพิ่มความตั้งใจและก่อให้เกิดแรงผลักดันในการทำงานของสมาชิกทุกคนภายในองค์กร

22 ม.ค. 2551

เราจะคาดหวังอะไรได้จากรัฐบาลชุดใหม่

น่าจะลงตัวแล้วสำหรับ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศ ว่าจะต้องเป็นคุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งหลายภาคส่วนสังคมอาจจะไม่ให้การยอมรับ แต่คงไม่สามารถฝืนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ ในขณะเดียวกันโฉมหน้าของรัฐบาลก็เริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากเป็นไปตามข่าวที่ออกมาจริงการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆ มากกว่าความสามารถของตัวบุคคล

ได้ยินชื่อของรัฐมนตรีหลายท่านแล้วพวกท่านอาจจะต้องอุทานว่า "ยี้" ไม่ว่าจะเป็นคุณเฉลิม อยู่บำรุง ที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณเสนาะ เทียนทอง นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แค่ชื่อ 3 ท่านนี้หลายคนก็แทบจะลมใส่แล้วครับ

ส่วนรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ ที่ภาคธุรกิจจับตามอง เพราะต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่กำลังรุมเร้าอย่างมากในตอนนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ที่รัฐมนตรีคลังจะต้องมีความโปร่งใสสูง(มีการสอบประวัติญาติ 7 รุ่น) ทำให้ไม่มีใครกล้านั่งเก้าอี้นี้ต้องให้ นพ. สุรพงษ์ มานั่งซึ่งภาคธุรกิจไม่ค่อยประทับใจมากนัก ดีที่รัฐมนตรีพาณิชย์ดูเข้าท่าคือคุณมิ่งขวัญ น่าจะพอช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้บ้าง

ตามการคาดหมายรัฐบาลชุดนี้ มีวาระที่ต้องการดำเนินการเป็นพิเศษแต่ไม่ใช่วาระของชาติ เป็นวาระของคน 111 คน ฉะนั้นท่านคงจะคาดหวังอะไรมากจากรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ เพราะแม้จะใช้ชื่อพรรคว่า "พลังประชาชน" แต่ไม่ได้สัญญาว่าจะทำเพื่อประชาชน

21 ม.ค. 2551

บัญญัติ 10 ประการในการให้คำปรึกษาผู้ใต้บังคับบัญชา

ใครก็ตามที่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหาร และมีลูกน้องที่จะต้องรับผิดชอบ บุคคลนั้นย่อมจะมีหน้าที่โดยปริยายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือลูกน้อง เมื่อเขาประสบปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง หน้าที่นี้ปฏิเสธไม่ได้โดยเด็ดขาด

ทำไมจึงต้องช่วยเหลือ?
 เนื่องจากโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนย่อมจะมีบางโอกาสที่เผชิญปัญหาบางอย่าง และเขาเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้โดยลำพัง ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นเรื่อง งาน เพื่อน ครอบครัว เศรษฐกิจ คู่ครอง เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่หัวหน้าจะต้องสามารถรับฟังได้ และช่วยเขาเท่าที่จะสามารถกระทำได้
 เมื่อบุคคลมีปัญหาเกิดขึ้น แก้ไขไม่ได้ ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ใจ ซึ่งจะเป็นสาเหตุอันรุนแรงที่ทำให้การทำงานมีปัญหาตามมาไปด้วย เช่น ขาดงาน มาสาย ทำงานไม่สำเร็จ ทำงานผิดพลาด ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายต่อความสำเร็จขององค์กร ดังนั้น หัวหน้าหรือผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจและช่วยเหลือเขาให้ดีที่สุด เท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาขององค์กรไปด้วย

บัญญัติ 10 ประการ ในการให้คำปรึกษา
1. หัวหน้างานจะต้องเป็นผู้ที่ “รับฟัง” ลูกน้องเสมอ
2. พูดน้อย ๆ ปล่อยให้ลูกน้องพูด มากๆ
3. สังเกตพฤติกรรมของลูกน้องตลอดเวลา ทั้งการพูด และท่าทาง
4. พยายามเข้าใจปัญหา และสาเหตุอย่างชัดเจน
5. พยายามเก็บความลับของลูกน้องทุกคน
6. มีความเห็นอกเห็นใจลูกน้อง และมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ
7. มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้อ่อนไหวตามพนักงาน
8. ตระหนักเสมอว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะแก้ไขได้หรือไม่ได้
9. ถ้าไม่อาจจะช่วยลูกน้องได้ ต้องแสวงหาแหล่งที่จะช่วยลูกน้องต่อไป
10.ให้เขาจากไปด้วยความรู้สึกที่ดีต่อเรา และอยากกลับมาเมื่อจำเป็น

การปรับเปลี่ยนแนวความคิดและทัศคติในที่ทำงาน

การทำงานอย่างมีความสุขมีองค์กรประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทัศนคติในที่ทำงาน ซึ่งหลายคนมักจะมองข้ามทำให้ไม่มีความสุขในการทำงานส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ วันนี้ลองมาปรับทัศนคติในที่ทำงานดูผมรับรองว่าทุกท่านจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ทัศนคติต่อหัวหน้างาน
1. หัวหน้าคือผู้มีประสบการณ์และต้องการเห็นเราก้าวหน้า
2. หัวหน้าคือผู้ที่อดทนต่ออารมณ์และความผิดพลาดของเรา
3. หัวหน้าคือคนที่ถูกกดดันจากภาระหน้าที่มากมาย
4. หัวหน้าคือครูที่จู้จี้จุกจิก คอยขัดเกลาให้เราได้ดี
5. หัวหน้าคือพี่คนโตที่มีหน้าที่คอยดูแลเอาใจใส่เราเป็นพิเศษ

ทัศนคติต่อลูกค้า
1. ลูกค้าคือผู้มีอุปการคุณและเป็นที่มาของรายได้
2. ลูกค้าคือผู้ที่ไม่ได้มาตัวเปล่าแต่พกเอาความคาดหวังมาด้วย
3. ลูกค้าคือผู้ที่เอาแต่ใจตัวเองก็จริงแต่เขาก็จ่ายเงินสด
4. ลูกค้าคือผู้ที่ให้เกียรติเราได้มีโอกาสต้อนรับและบริการเขา
5. ลูกค้าคือผู้มีสิทธิในการเลือกซื้อและตัดสินใจเลือกใช้บริการ

ทัศนคติต่อเพื่อนร่วมงาน
1. เพื่อนร่วมงานคือผู้แบกภาระการบริการลูกค้าเท่าเทียมกับเรา
2. เพื่อนร่วมงานคือผู้ที่ช่วยให้งานเราสำเร็จ
3. เพื่อนร่วมงานคือผู้ที่เราร่วมสุข ร่วมทุกข์ในที่ทำงาน
4. เพื่อนร่วมงานคือที่ปรึกษาส่วนตัวเฉพาะกิจ
5. เพื่อนร่วมงานคือมิตรแท้ในที่ทำงาน

ทัศนคติต่อองค์กร
1. องค์กรนี้คือที่ที่ให้โอกาสและประสบการณ์ดีๆแก่เรา
2. องค์กรนี้คือบ้านหลังใหญ่ของเรา
3. องค์กรนี้คือที่ที่ให้อนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีแก่เรา
4. องค์กรก้าวหน้าทำให้เรามีอนาคต
5. ความสำเร็จขององค์กรรี้คือผลงานที่ดีของเรา

หวังว่าทุกท่านจะมีความสุขมากขึ้นในการทำงาน

19 ม.ค. 2551

การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ประกอบขึ้นจากแรงกระตุ้น 2 ด้าน คือ แรงกระตุ้นจากภายใน และแรงกระตุ้นจากภายนอก เราจะใช้แรงกระตุ้นทั้ง 2 ด้านอย่างไร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

แรงกระตุ้นภายใน Internal inspiration
1. การตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อกำหนดอนาคตและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
2. ความท้าทาย (Challenge) เป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จะกลายเป็นความท้าทายที่ทำให้เราก้าวไปจนประสบความสำเร็จ แต่ที่สำคัญเป้าหมายจะต้องไม่ไกลเกินตัว เพราะจะกลายเป็นความเพ้อฝันไม่มีวันจบสิ้น
3. ความมั่นใจ (confident) เราต้องมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในความสามารถ ความพยายาม ความพากเพียรและความอดทน ซึ่งจะนำมาสู่ความสำเร็จได้
4. คำมั่นสัญญา (Commitment) เราต้องมีคำมั่นสัญญากับตัวเราในการที่จะทำให้เป้าหมายที่วางเอาไว้ประสบความสำเร็จให้ได้ คำมั่นสัญญานี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราสร้างวินัยในตัวเอง เพื่อความสำเร็จที่ตั้งเอาไว้

อาจจะสรุปได้ว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน มิใช่การทำงานแบบวันต่อวัน เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

แรงกระตุ้นภายนอก External inspiration
1. สถานที่ทำงาน บรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
2. เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร
3. กฎ กติกา ระเบียบ และการลงโทษ
4. การให้คำชมเชย หรือของรางวัลในความสำเร็จ
5. คำตำหนิ หรือการสอนสั่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เราประสบความสำเร็จ
6. สิทธิ ผลประโยชน์ รายได้ หรือสวัสดิการต่างๆ ที่พอเหมาะพอเพียง (การทำงานไม่จำเป็นที่เราต้องหวังผลตอบแทนจนเกินตัว)

แรงกระตุ้นจากภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ให้เราพยายามมองให้มุมบวกให้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

Quality Assurance (QA) & Quality Control (QC)

การดำเนินธุรกิจบริการ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจในการบริการและใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอันจะก่อให้เกิดการใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้ก็คือ การให้บริการอย่างมีคุณภาพ การที่จะทำให้การบริการขององค์กรสามารถทำได้อย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบในการควบคุมคุณภาพ (Quality Control-QC) เพื่อสามารถสร้างระบบประกันคุณภาพ(Quality Assurance-QA) อันเป็นพื้นฐานของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กรของท่านได้
โดยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากแต่ละแผนก สร้างระบบดังกล่าวร่วมกัน เพื่อให้องค์กรของท่านสามารถทำงานได้อย่างมีระบบ และง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด อันจะส่งผลดีต่อคุณภาพการให้บริการขององค์กร

1. การเลือกหัวข้อที่ใช้ควบคุม (Control Subject) ให้สรุปเป็นคุณลักษณะการให้บริการ เช่น ลูกค้าต้องรออาหารไม่นาน เมื่อกำหนดเป็นคุณลักษณะกระบวนการ (Process Feature) คือ เวลาตั้งแต่รับคำสั่งจนเสิร์ฟอาหารได้ ใช้เวลาไม่นาน (เวลาที่กำหนด)
2. กำหนดตัวชี้วัด คือ การหาวิธีการวัดผลการดำเนินงานจริงของกระบวนการ ซึ่งต้องกำหนดชัดเจนไม่คลุมเครือ บอกถึงความถี่ที่ใช้วัด วิธีการบันทึกผล จากตัวอย่าง ที่แล้ว ตัวชี้วัดคือ เวลา ตั้งแต่รับคำสั่งจนพนักงานเสิร์ฟสามารถเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าได้
3. จัดทำมาตรฐานการทำงาน คือ การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานตามคู่มือนี้ และคู่มือนี้จะต้องกำหนดระดับที่เป็นมาตรฐานหรือเป้าหมายของแต่ละหัวข้อควบคุม เช่น พนักงานเสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้าภายใน 15 นาทีหลังจากรับคำสั่ง
4. การตรวจสอบ/วัดผลการทำงาน คือ การวัดผลการทำงานจริงของกระบวนการหรือบริการ โดยสามารถใช้คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบและเก็บข้อมูลได้ เช่น ใช้ระบบจากเครื่อง PDA เก็บข้อมูลและจับเวลา ในขั้นตอนตั้งแต่การสั่งอาหารจนสามารถเสิร์ฟถึงโต๊ะลูกค้า
5. เปรียบเทียบผลกับมาตรฐาน ทำการเปรียบเทียบผลการทำงานจริงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยพิจารณาว่าถ้าผลที่ได้ตรงกับมาตรฐานให้ดำเนินงานต่อไป กระบวนการก็จะอยู่ในสภาวะควบคุมได้ซึ่งกระบวนการ QC ก็จะวนรอบตามข้อ 1-5
6. แก้ไข หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานแล้ว พบว่ามีข้อที่ไม่ตรงกับมาตรฐาน ก็จำเป็นต้องทำในข้อ 6 คือ การแก้ไข ซึ่งแต่ละแผนกจะต้องมีการกำหนดแนวทางแก้ไขรองรับไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทำการแก้ไขตามสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันที

เมื่อเกิดวงจร QC ในการบริการแล้ว ผู้บริหารระดับกลาง หรือหัวหน้าของปฏิบัติงานในแต่ละกระบวนการ จะมีบทบาทในการดำเนินการทำ QA ในขอบเขตที่ตนเองดูแล เช่น ตรวจสอบระบบ QC ในแต่ละขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลที่ลูกค้าร้องเรียน เพื่อทำการแก้ไขมาตรฐานการทำงาน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจทุกครั้งที่ได้รับบริการเมื่อองค์กรของเราสามารถสร้างระบบ QA ที่แข็งแกร่งได้ จะกลายเป็นจุดขายที่สำคัญที่คู่แข่งยากจะลอกเลียนได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ระบบนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือของพวกท่านในการสร้างสรรค์ มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการที่เป็นเลิศให้กับองค์กรของท่าน

9 ม.ค. 2551

คิดบวก ชีวิตบวก Positive Thinking, Positive Life

วันนี้ได้รับบทความดีๆ จากเพื่อนเป็นบทความของท่านพระอาจารณ์ ว. วชิระเมธี เห็นว่าดีและมีประโยชน์จึงอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ

คิดบวก ชีวิตบวก Positive Thinking, Positive Life

เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ

เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ

เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต

เวลาเจอนายจอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ

(perfectionist)

เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ

เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงเป็นคนที่มีความหมาย

เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือวิธีที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต

เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี

เวลาเจอความพลัดพราก ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง

เวลาเจอลูกหัวดื้อ ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือโอกาสทองของการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง

เวลาเจอแฟนทิ้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ

เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้ว ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือประจักษ์พยานว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง

เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจ ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือความเป็นอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง

เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า

นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม

เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์

เวลาเจออุบัติเหตุ ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด

เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบททดสอบที่ว่า

"มารไม่มีบารมีไม่เกิด"

เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"

เวลาเจอความจน ให้บอกตัวเองว่า

นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต

เวลาเจอความตาย ให้บอกตัวเองว่า นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์

8 ม.ค. 2551

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจปี 51

จากบทความครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจปี 51 น่าจะดีกว่าปี 50 แต่... อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 ประการที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น

ปัญหาแรก คือสิ่งที่เราเองไม่สามารถควบคุมได้คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ น่าจะมีแรงกดดันให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้มากตามที่หวัง เพราะหากราคาน้ำมันยังสูงต่อเนื่อง คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นการบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในปีนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะไม่สามารถเติบโตตามที่คาดหวังเอาไว้

ปัญหาที่สอง เป็นปัญหาสืบเนื่องจากปัญหาแรกคือเมื่อราคาสินค้าปรับตัวขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อของประเทศ คือธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการหยุดภาวะเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มมากจนเกินไป แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนไม่สามารถเติบโต แม้ว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของรัฐบาลแล้ว

ปัญหาทั้งสองข้อ จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะสามารถนำประเทศฝ่าวิกฤตเหล่านี้ไปได้อย่างไร? และจะสามารถทำตามที่สัญญากับประชาชนเอาไว้ได้หรือไม่

7 ม.ค. 2551

เศรษฐกิจไทยปี 51

เริ่มเขาปี 2551 มาได้ 7 วัน ตอนนี้มีนักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างออกมาพยากรณ์เศรษฐกิจในปีนี้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร ส่วนใหญ่ออกมาในแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งกไม่น่าแปลกใจนัก เพราะปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยแทบจะหยุดชะงัก การที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% เป็นผลมาจากภาคการส่งออกเปนตัวนำ โดยมีการใชจ่ายภาครัฐเป็นกองหนุน ขณะที่ภาคเอกชนแทบจะไม่มีการขยับตัว ทั้งทางด้านการบริโภคและทางด้านการลงทุน

นอกจากนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนราชการ จะส่งผลให้มีการขยายตัวของการจับจ่ายใช้สอย และการมีรัฐบาลใหม่จะเกื้อหนุนใหนักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นหลังจากต้องชะลอการลงทุนมาแล้ว 1 ปี ประกอบกับการที่รัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครจะไดจัดตั้งรัฐบาลกมีแนวโน้มจะใชจ่ายงบประมาณมากขึ้นตามที่ได้สัญญาเอาไว้กับประชาชน ทั้งหมดนี้คือปัจจัยบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้สามารถเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 อย่างที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโต เอาไว้คราวหน้าแล้วกันนะครับ