7 มี.ค. 2551

ซื้อฟอร์เวิร์ด-ลดต้นทุน-ขึ้นราคา ...กลยุทธ์หนีตายบาทแข็ง

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3981 (3181)

ซื้อฟอร์เวิร์ด-ลดต้นทุน-ขึ้นราคา ...กลยุทธ์หนีตายบาทแข็ง
พลันที่แบงก์ชาติประกาศยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น 30% เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก คือกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากผลที่จะเกิดตามมาหลังการยกเลิกมาตรการก็คือ ค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มจะแข็งค่า ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ค่าเงินบาทจะไปหยุดที่เท่าไหร่ หรือมีรูมให้วิ่งที่เท่าไหร่ ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะปรับตัวได้บ้าง

และที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ ไม่ใช่เอสเอ็มอีทุกรายที่มีขีดความสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพค่าเงินบาทที่ผันผวนไปในทางทิศทางลบเช่นนี้

ซึ่งหลังช่วงเวลาดังกล่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มต่างๆ ถึงแนวทางการปรับตัว ซึ่งก็พบว่ามีทั้งรายที่เข้มแข็งพอปรับตัวได้ทัน และก็มีบางราย (ส่วนใหญ่) ที่ต้องปล่อยไปตามยถากรรม

3 วิธีแก้ปัญหาบาทแข็ง

น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ผู้สร้างสรรค์แพ็กเกจจิ้งไบโอ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 80-90% จากกำลังการผลิตทั้งหมด กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยที่ผมทำทันที หลังจากรัฐบาลได้ส่งสัญญาณที่จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็คือ 1.ซื้อฟอร์เวิร์ด 2.ลดต้นทุน และ 3.ปรับราคาขายขึ้น 10-15%

ทั้ง 3 วิธีเป็นการตั้งรับสำหรับเอสเอ็มที่รู้ข้อมูลและมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ในการที่จะจับสัญญาณหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามา

"จริงๆ ต้องบอกว่า ผมจับสัญญาณ ได้ตั้งแต่ก่อนมีรัฐบาล เพราะเขาได้มีการพูดมาโดยตลอด และพอเขาได้มาเป็นก็ยังพูดต่อ ทำให้ผมตัดสินใจซื้อฟอร์เวิร์ดทันที ทำให้รอบนี้ผมไม่เจ็บตัว" น.พ.วีรฉัตรกล่าวและว่า แต่ทั้งนี้การซื้อฟอร์เวิร์ดก็มีข้อจำกัด ไม่ใช่ทุกรายที่จะซื้อได้ หรือซื้อได้ไม่จำกัด ฉะนั้นสำหรับรายที่เล็กๆ น่าจะมีปัญหาพอสมควร

ส่วนการขึ้นราคาเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับแพ็กเกจจิ้งไบโอสามารถทำได้ เพราะมีช่องทางตลาดให้เล่น ส่วนการลดต้นทุนการผลิตนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำตลอด แต่ก็ยอมรับต้องลงมาดูในรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งเรื่องการขนส่ง เรื่องคน ฯลฯ

แต่ทั้งนี้แม้จะทำทั้ง 3 วิธีก็ยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด เป็นแค่การบรรเทาอาการให้เกิดภาวะขาดทุนน้อยลงเท่านั้น

ทั้งนี้ น.พ.วีรฉัตรกล่าวให้ความเห็นว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มองว่าการส่งออกสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คือต้องพึ่งพาตัวเอง

"แต่สิ่งที่อยากจะสะท้อนให้รัฐบาลรับรู้ ก็คือ เราในฐานะที่เป็นผู้ส่งออก เราไม่ได้กลัวว่าเงินบาทจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ที่เรากังวลและเป็นปัญหาก็คือ ค่าบาทที่แกว่ง ไปแกว่งมาไม่หยุดสักที นี่แหละที่เป็นปัญหาที่ทำให้เราทำงานยาก" น.พ.วีรฉัตรกล่าวและว่า

2 ปีมานี้ที่ผมส่งออกแพ็กเกจจิ้งไบโอ ตอนเริ่มส่งออกค่าบาทอยู่ที่ 41 บาท/ เหรียญ แต่ตอนนี้ค่าบาทอยู่ที่ 31 บาทกว่า หายไปประมาณ 10 บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 25-28% คือรายได้ที่หาย ซึ่งการทำกำไรในการประกอบธุรกิจจริงๆ ก็ไม่ได้มากขนาดนี้ และเวลาทำธุรกิจความเสียหายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกิจก็เป็นความเสียหายแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะต่างจากความเสียหายจากค่าเงินบาท เพราะมันเกิดแบบทันทีทันใด"

ลดค่าใช้จ่าย-ขายให้น้อยลง

แหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกผักและผลไม้แปรรูปกล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ ลดค่าใช้จ่ายและขายให้น้อยลง และปรับราคาก็สินค้าลอตใหม่ ส่วนลอตเดิมก็ต้องยอมเจ็บตัว

"ที่ต้องเจ็บตัวเพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายล่วงหน้า สั่งซื้อสินค้าเมื่อ 1-2 เดือนที่แล้วถึงกำหนดส่งช่วงนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องส่ง ไม่ส่งไม่ได้เสียเครดิต หรือถ้าไม่ส่ง สินค้าก็เสียหาย บางตัวถ้าผลิตแล้วก็ต้องยอมขายขาดทุน ขายได้เงินน้อยดีกว่าของเน่าเสียในห้องเย็น" แหล่งข่าวกล่าวและว่า สิ่งที่ต้องดูหลังจากนี้ก็คือ รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ส่งออก แต่เท่าที่ประเมินคงยาก สิ่งที่ต้องทำจึงต้องพึ่งตัวเอง คือพยายามลดค่าใช้จ่ายและขายให้น้อยลง และเลือกขายกับลูกค้าที่คุยกันรู้เรื่อง ยอมที่จะซื้อในราคาที่แพงขึ้นซึ่งลูกค้าแบบนี้มีไม่มาก

ส่งออกแฝงก็เจ็บ

จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะผู้ส่งออกทางตรงเท่านั้นที่เจ็บตัว แต่ผู้ส่งออกแฝงย่านประตูน้ำ สำเพ็ง โบ๊เบ๊ จตุจักร ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งย่านประตูน้ำกล่าวว่า ผลจากค่าเงินบาทที่ผันผวนทำให้ลูกค้าต่างชาติตัดสินใจซื้อสินค้าได้ยากขึ้น

"เมื่อก่อนหอบเงินดอลลาร์ 1 ดอลลาร์ แลกเงินไทยได้ 38-39 บาท กลับมาอีกครั้งเหลือ 31-32 บาท หายไป 7-8 บาท ทำให้ต่างชาติคิดแล้วคิดอีก กดเครื่องคิดเลขซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะซื้อดีหรือเปล่า และก่อนจะตัดสินใจซื้อ ก็ขอต่อราคา ขอลดแล้วลดอีก ยอมรับเลยว่าขายยากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าวและว่า เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่า เราขายเงินบาท ไม่ได้รับผลกระทบนั้นไม่จริงเลย

ส่วนการปรับตัวก็คือ พยายามลดต้นทุน เน้นทำสินค้าคุณภาพ และหนีคู่แข่งจีน ด้วยการออกสินค้าใหม่ที่ไม่ซ้ำกับจีน

"มีลูกค้าต่างชาติในกลุ่มยุโรป จำนวนเยอะเหมือนกันที่เคยหนีไปซื้อจีน สุดท้ายก็กลับมาไทย เพราะคุณภาพเราดีกว่า แต่สิ่งที่เราต้องบอกให้เขาเข้าใจก็คือ ต้นทุนเราเพิ่ม ดังนั้นยอมซื้อเราแพงนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาจะได้คือ คุณภาพ" แหล่งข่าวกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: