หลักการของ TQM หรือ Total Quality Management นั้นได้ถือกำเนิดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 1923 โดย Walter Shewhart ซึ่งทำงานให้กับบริษัท Western Electric ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพ จะได้พัฒนาทฤษฎีสำหรับกระบวนการทำงานต่างๆ เรียกว่า "Theory of Systems" โดยนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตชิ้นส่วนของโทรศัพท์ ทำให้เกิดหลักการของ PDCA (Plan/Do/Check/Act) ขึ้น
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1950 Deming และ Duran ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในเรื่องคุณภาพได้ถูกรับเชิญจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นซึ่งในขณะนั้นกำลังประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องคุณภาพของสินค้า ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ถึงกับเป็นที่รู้กันว่าถ้าสินค้าผลิตในญี่ปุ่นจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงต่อจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐฯ นั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการดำเนินการผลิตสินค้าในช่วงสงครามโลก ส่วนประเทศญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงครามก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทั้งสองจึงได้ถูกรับเชิญให้เข้าไปสอนผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น
หลังจากนั้นหลักการของ TQM ก็ได้ถูกพัฒนาและใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงปีทศวรรษที่ 1950-1970 ซึ่งถือเป็น TQM รุ่นแรก (ภายหลังถูกพัฒนาขึ้นมาอีกหลายรุ่น) จากที่สินค้าตีตราประเทศญี่ปุ่นนั้นจะถือเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ กลายเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดและถือว่าถ้าผลิตในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นสินค้าชั้นหนึ่ง จากนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของ TQM และเริ่มกลับมาสนใจในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่งในปี 1980 ส่วนในประเทศไทยเองนั้นเริ่มมีการพูดถึงหลักการดังกล่าวตั้งแต่ราวๆ ปี 1985
องค์ประกอบหลักของ TQM
TQM สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่เป็น First Generation Quality และส่วนที่เป็น Second Generation Quality ซึ่งในแบบแรกหรือ First Generation จะเน้นที่การควบคุมการทำงานในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่ต้องประสบอยู่ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น ในการเรียนการสอนต่างๆ ถ้าอาจารย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ White Board และปากกาสำหรับ White Board, แปรงลบกระดาน หรือใช้เครื่องฉายแผ่นใส แต่ถ้าพบว่าเกือบทุกครั้งที่ไปสอนนั้นไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ประจำอยู่ในห้องเรียน ทำให้ต้องไปนำอุปกรณ์มาจากห้องอื่นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าสามารถจัดอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ได้ โดยที่ผู้สอนไม่จำเป็นจะต้องไปนำอุปกรณ์เหล่านี้มาจากที่อื่นทุกครั้ง จะถือเป็นการปรับปรุงในหลักการของ First Generation Quality ตัวอย่างอื่นๆ เช่น จำนวนเก้าอี้ในห้องไม่เพียงพอต่อนักศึกษา ในกรณีนี้นักศึกษาจะต้องไปนำเก้าอี้มาจากห้องอื่นทุกครั้ง เป็นการรบกวนการเรียนของนักศึกษาและรบกวนการสอนของอาจารย์ ทำให้เริ่มเรียนได้ช้าและไม่มีสมาธิ ดังนั้นหากแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพในแบบ First Generation เช่นกัน
สำหรับ Second Generation Quality นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Hoshin Kanri ซึ่งได้รับการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น โดย Hoshin หมายถึง เป้าหมายและวิธีการ ส่วน Kanri หมายถึงควบคุม ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็จะได้ความว่าเป้าหมายและวิธีการเป็นตัวควบคุมทุกสิ่งนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการใช้วิธีการที่เปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อขึ้นไปสู่ระดับคุณภาพอีกขั้นหนึ่ง
โดย TQM ในทั้งส่วนทั้งสอง Generation นี้จะมี Quality Improvement Team เป็นผู้ดำเนินการโดยการใช้หลักการของ Quality Circles และ Task Items โดยเครื่องมือที่ใช้คือ PDCA และ 7 Basic Tools ซึ่งจะอธิบายถึงในภายหลัง