17 เม.ย. 2551

บทนำสู่การบริหารการผลิตและการปฏิบัติการ

บทที่ 1
บทนำสู่การบริหารการผลิตและการปฏิบัติการ
บทสรุป
การผลิตและการดำเนินงานเป็นหน้าที่สำคัญที่มีอยู่ในทุกองค์การซึ่งผู้บริหารต้องให้ความสนใจ เพราะการดำเนินงานจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างรายได้และการดำรงอยู่ของธุรกิจ โดยเราสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าการดำเนินงานเป็นกระบวนการแปรรูปปัจจัยนำเข้า เช่น แรงงาน วัตถุดิบ และพลังงาน ให้กลายเป็นผลลัพธ์ในรูปของสินค้าและ/หรือบริการ โดยทั้งสินค้าและบริการต่างมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น ความทนทาน พื้นที่ในการจัดเก็บ และระยะเวลาในการตอบสนอง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การผลิต (Production) เป็นการสร้างสินค้าและบริการ
การปฏิบัติการ (Operation) เป็นกระบวนการภายในองค์การซึ่งใช้ปัจจัยนำเข้า (Input) เช่น คน เงินทุน วัตถุดิบ ฯลฯ และแปรรูปปัจจัยนำเข้าเหล่านั้นให้เป็นปัจจัยนำออก (Output) ในรูปของสินค้าและบริการ
การบริหารการผลิต (Production management) เป็นการวางแผนและการตัดสินใจเพื่อการผลิตสินค้า
การบริหารการปฏิบัติการ (Operation Management : OM) เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ โดยผ่านกระบวนการแปรสภาพ (transformation) จากปัจจัยนำเข้า (input) เพื่อให้ออกมาเป็นปัจจัยนำออก (output) หรือเป็นการออกแบบ (design) การปฏิบัติการ (operations) และการปรับปรุงระบบการผลิต (Production system improvement)
ระบบการผลิต (Production system) เป็นระบบซึ่งเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้า (input) ออกมาเป็นกลุ่มของปัจจัยนำออก (output) ที่ต้องการ
ปัจจัยนำเข้า (Input) เป็นทรัพยากรการผลิต (Production resources) หรือทรัพยากรการปฏิบัติการ (Operation Resources) ประกอบด้วย 5 ประการ
1. คน (People) หมายถึง กำลังแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. โรงงาน (Plant)
3. ชิ้นส่วน (Parts)
4. กระบวนการ (Processes)
5. ระบบการวางแผนและการควบคุม (Planning and control system)
การบริหารการปฏิบัติการเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญ 3 ประการขององค์การ ซึ่งประกอบด้วย
1. การผลิต (Production) / การปฏิบัติการ
2. การเงิน (Finance) / บัญชี (accounting)
3. การตลาด (Marketing) / การขาย (Selling)
งานของผู้บริหารการปฏิบัติการ (Operation manager’s job) ผู้บริหารที่ดีจะกระทำหน้าที่พื้นฐานในกระบวนการทางการบริหาร (management process) ประกอบด้วย
1. การวางแผน (Planning)
2. การจัดองค์การ (Organizing)
3. การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing)
4. การชักนำ (Leading)
5. การควบคุม (Controlling) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การจัดองค์การเพื่อผลิตสินค้าและบริการ (Organizing to produce and services) ในการผลิตสินค้าและบริการ ควรมีการจัดองค์การเพื่อทำหน้าที่ 3 ประการ คือ
1. การผลิต (Production) / การปฏิบัติการ
2. การเงิน (Finance) / บัญชี (Accounting)
3. การตลาด (Marketing)
อาชีพการปฏิบัติการจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ 10 ประการ มีดังนี้
1. งานในสาขาด้านเทคโนโลยี / วิธีการต่าง ๆ (Technology / methods)
2. การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก / การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ (Facilities / space)
3. งานด้านการใช้กลยุทธ์ (Strategic issues)
4. งานที่เกี่ยวกับเวลาที่ใช้ (Response time)
5. งานเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคล / ทีมงาน (People / team development)
6. งานการบริการลูกค้า (Customer service)
7. งานด้านคุณภาพ (Quality)
8. งานการลดต้นทุน (Cost reduction)
9. งานการลดสินค้าคงเหลือ (Inventory reduction) และการบริหารเครือข่ายปัจจัยการผลิต (Supply-chain management)
10. งานการปรับปรุงด้านการเพิ่มผลผลิต (Productivity improvement)
การปฏิบัติการในส่วนของงานบริการ (Operation in the service sector) การบริการ (service) เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจซึ่งผลิตสินค้าที่ไม่มีตัวตน เช่น การศึกษา ความบันเทิง การเช่า การบริหารงานของรัฐบาล การเงิน การบริการด้านสุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ การประกัน การซ่อม และการบำรุงรักษา เป็นต้น
ผลผลิต (Productivity) เป็นจำนวนผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตได้จากการใช้ทรัพยากรจำนวนหนึ่ง
การวัดผลผลิต (Productivity measurement) เป็นการวัดมูลค่ารวมของปัจจัยนำออกที่เกิดจากกระบวนการแปรสภาพหารด้วยต้นทุนรวมของปัจจัยนำเข้า มีดังนี้
1. การวัดผลผลิตแบบปัจจัยเดี่ยว (Single factors productivity)
2. การวัดผลผลิตแบบหลายปัจจัย (Multi factors productivity)
ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต (Productivity variables) เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวัดความสามารถในการผลิตสินค้าหรือบริการชนิดหนึ่งเป็นอัตราส่วนของปัจจัยนำเข้าต่อปัจจัยนำออก ซึ่งแสดงผลผลิตที่จะขึ้นอยู่กับตัวแปรดังต่อไปนี้
1. แรงงาน (Labor)
2. ทุน (Capital)
3. การบริหาร (Management)

ไม่มีความคิดเห็น: