13 มี.ค. 2551

"อีโคดีไซน์" ธุรกิจ-แพ็กเกจจิ้งเพื่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา: "ประชาชาติธุรกิจ" วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3983 (3183)

"อีโคดีไซน์" ธุรกิจ-แพ็กเกจจิ้งเพื่อสิ่งแวดล้อม

ภาพจาก : http://sweden.procarton.com

เทรนด์ของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ทว่าสำหรับเมืองไทยทุกคนอาจจะมองแตกต่างกันในแง่ที่ว่า หากต้องการพัฒนาแนวอีโคดีไซน์แล้วควรจะเริ่มจากตรงไหน และมักมีคำถามจากผู้ประกอบการว่าแพ็กเกจจิ้งจากพลาสติกเป็นอีโคดีไซน์หรือเปล่า ถ้าหากนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติเพิ่ม หรือในอีกมุมหนึ่งแพ็กเกจจิ้งจากธรรมชาติเป็นการทำลายธรรมชาติหรือไม่

อะไรเป็นตัวชี้วัดเมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะพัฒนาธุรกิจของท่านไปในแนวทางของอีโคดีไซน์ได้อย่างไร

"ประชาชาติธุรกิจ" สรุปเนื้อหาการอบรมเรื่องการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศวิทยาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 ที่จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ เพื่อให้เอสเอ็มอีจับทิศทางและเริ่มต้นการปฏิวัติรูปแบบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

LCA ประเมินอีโคโปรดักต์

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจเลือกที่จะพัฒนากระบวนการผลิต หรือแม้แต่การออกแบบแพ็กเกจจิ้งจะต้องประเมินวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายว่าจะเลือกใช้วัสดุอะไรด้วย วิธีการผลิตแบบไหน เมื่อผลิตออกมาแล้วบรรจุภัณฑ์จากกระดาษหรือพลาสติกอะไรคุ้มค่ากว่ากัน

สิ่งเหล่านี้เราใช้เครื่องมือในการประมวลผลที่เรียกว่า LCA หรือ life cycle assessment เครื่องมือที่ว่านี้คือการเข้าไปศึกษาในหลายๆ ประเด็น เช่น ผลกระทบต่อสังคม ปริมาณพลังงานที่ใช้ การขนส่ง การบำรุงรักษา การรีไซเคิล วัฏจักรของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
ภาพจาก : http://sweden.procarton.com

เพื่อที่จะบอกว่าตู้เย็นหนึ่งตู้ที่ออกแบบและผลิตมานั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีอายุการใช้งานคุ้มค่า

หรือไม่ สามารถแยกชิ้นส่วนแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ รวมทั้งกระบวนการผลิตใช้พลังงานไปเท่าไรเพื่อที่จะประมวลแล้วว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับอนาคต

ผู้ประกอบการสามารถเริ่มจาก LCD เองในโรงงานของท่าน หรือการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วยซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง และหากเป็นโรงงานขนาดเล็กๆ อาจจะประหยัดต้นทุนโดยการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยใน การประเมินผลก็ได้ เช่น http://www. ecodesign.at/pilot/ONLINE/DEUTSCH/

พลาสติก-ขวด-กระดาษ

ทิศทางที่แตกต่าง

ณกร คงสายสินธุ์ ผู้จัดการส่วนเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ วิทยากรจากกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตกล่องลูกฟูกแนะให้ฟังว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในอนาคตมีการพัฒนาให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งโดยแนวทางที่ทั่วโลกมีการนำมาพัฒนาปรับปรุงก็คือ ทำให้กระดาษมีเส้นใยที่มีความเหนียวมากขึ้น เบาขึ้น
ภาพจาก : http://www.canai.org

เช่น กระดาษกล่องบางชนิดที่ใช้วิธีการอัดเป็นแผ่นหนาๆ ซึ่งมีน้ำหนักมากก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้ด้านในเป็นลอนเล็กๆ แบบเดียวกับกระดาษลูกฟูกกล่องใหญ่ๆ แทนการนำเอากระดาษมาอัดเป็นแผนเพื่อให้แข็งแรง หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับบรรจุขวดเบียร์ ขวดไวน์ คูลเลอร์ 6 ขวด ที่เราเห็นเป็นกล่องกระดาษ เจาะเป็นหูหิ้วด้านบน ในอนาคตอาจจะมีการออกแบบให้กระดาษมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อที่จะลดวัตถุดิบและใช้ยึดเฉพาะปากขวดแทนการหุ้มขวดทั้ง 6 เหมือนในปัจจุบัน

สำหรับกระบวนการในการผลิตแก้ว มีแนวคิดแตกต่างกัน เพราะแก้วนั้นเป็นวัสดุจากธรรมชาติอยู่แล้ว แต่กระบวนการในปัจจุบันผู้ผลิตแก้วมีการจัดการนำเอาแก้วเก่าขวดเก่ามารีไซเคิลได้ใหม่ ซึ่งสามารถลดการนำเอาทรายจากธรรมชาติมาใช้ได้ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับการที่ลูกค้าเองประสบปัญหาเรื่องต้นทุน ดังนั้นการ นำเอาของเก่ามาใช้ได้ใหม่ และการปรับกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานเท่าเดิม แต่ใช้วัตถุดิบน้อยลง ราคาที่ถูกลง จึงเป็นทิศทางสำหรับบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ

ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งแบบผสมผสาน เช่น กล่องนมซึ่งประกอบไปด้วยวัสดุ 3 ชนิดก็คือ กระดาษ อะลูมิเนียมฟอยล์ และพลาสติก สามารถแยกออกมาทำใหม่หรือเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น บริษัท เต็ตตราแพ้ค (ไทย) จำกัด ได้พยายามมองหาแนวคิดในการพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ ต่างๆ ควบคู่กับการสนับสนุนให้คนเก็บกล่องนมมาขายผ่านซาเล้งเพื่อนำมารีไซเคิลอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้วัตถุดิบรีไซเคิลมีจำนวนมากแต่ตลาดของการนำมาใช้พบว่ายังน้อยอยู่มาก

บริการเช่าช่องทางประหยัดพลังงาน

แนวคิดในเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะออกแบบให้มีกระบวนการผลิตที่ช่วยประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ต้นแล้ว การให้บริการแบบเช่าโดยการนำเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาแชร์กันใช้ เช่น การให้บริการคอมพิวเตอร์ให้เช่าตามสำนักงาน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 3 ปี 5 ปี การเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร การเช่ารถของสำนักงานตำรวจก็ดี ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือเมื่อใช้จนคุ้มค่าแล้วเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ สามารถนำไปขายต่อเป็นเครื่องมือสอง หรือนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำกลับเข้าไปยังกระบวนการผลิตเพื่อนำใช้ใหม่อีกก็ได้ เป็นการประหยัดพลังงานในอีกทางหนึ่ง หรือแม้แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากพลังงาน ทดแทนก็ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวทางของอีโคดีไซน์เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: