17 มี.ค. 2551

ดอลล์ยวบจุดชนวน ศก.โลกป่วนยกใหม่

โพสต์ทูเดย์ — เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าต่อเงินสกุลหลักของโลก ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป นักวิเคราะห์ชี้อาจถึงขั้นกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจครั้งล่าสุด

นักวิเคราะห์ชี้การอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ของเงินเหรียญสหรัฐ บวกกับกระแสวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มช่วงขาลงของมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก เสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินอย่างสมบูรณ์แบบ และอาจรุนแรงพอๆ กับวิกฤตการณ์ครั้งที่แล้วๆ มา

“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของวิกฤตการเงินการธนาคารครั้งประวัติศาสตร์ บวกกับวิกฤตการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของแท้” เวโรนิก ริช-ฟลอเรส นักวิเคราะห์จากธนาคารโซซิเอเต เจเนราล กล่าวพร้อมชี้ว่า ขณะนี้ตลาดต่างเตรียมรับมือกับการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐในระดับที่เลวร้ายกว่านี้

ด้าน ชาร์ลส์ วายพลอตซ์ จากมหาวิทยาลัยเจนีวา กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับการอ่อนค่าของ เงินเหรียญสหรัฐในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ยุติมาตรฐานอัตราแลกเปลี่ยนเบรตตันวูดเมื่อทศวรรษที่ 70
“เมื่อพิจารณาจากตัวเลขงบประมาณขาดดุลและตัวเลขขาดดุลการค้าอย่างมโหฬารของสหรัฐ การที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าต่อเงินยุโรปมาแตะที่ 1.5 ถือเป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นและจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การอ่อนค่าของสกุลเงินมีส่วนกระตุ้นการส่งออกและชะลอการนำเข้าของสหรัฐก็จริง กระนั้นก็ตามหากค่าเงินยังอ่อนตัวลงมากกว่านี้ จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น” วายพลอตซ์ กล่าว

อีริก แวร์กโนด์ จากบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า การที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงมาต่ำกว่า 1 ฟรังก์สวิส เป็นครั้งแรกและต่ำกว่า 100 เยน นับตั้งแต่ปี 2538 ได้กระตุ้นเตือนถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกคราวที่ผ่านๆ มา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาแทรกแซงความเคลื่อนไหวของค่าเงิน จำเป็นจะต้องใช้มาตรการที่สัมฤทธิผลอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงที่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือทางการเงินของตัวเอง

ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่น หลังจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นมาเกิน 100 เยนต่อเหรียญสหรัฐ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิตกเกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากภาวะชะลอตัวมาไม่นาน โดยเฉพาะภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ที่จะเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ก่อนที่ภาคธุรกิจจะได้รับความเสียหาย แต่ไม่สนับสนุนให้ใช้มาตรการแทรกแซงความเคลื่อนไหวของ ค่าเงิน เพราะอาจก่อให้เกิดความ บาดหมางใจกับสหรัฐ ไม่เพียง เท่านั้นการใช้มาตรการดังกล่าวยังมีผลลัพธ์ในวงจำกัดเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: