14 มี.ค. 2551

เงินเฟ้อจีน-อินเดียพุ่ง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่อยู่ที่ 7.1% ซึ่งถือเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 7.9%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ดันให้เงินเฟ้อในจีน พุ่งสูงขึ้นมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาอาหารในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 23% หลังจากที่ต้องเผชิญกับพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ทำให้พืชผลและเส้นทางคมนาคม ขนส่งถูกทำลายจนส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนต้องชั่งน้ำหนักในการปล่อยให้ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะทำให้ความต้องการ ส่งออกชะลอตัวจนกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

สำนักงานสถิติจีนระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องนี้และออกมาตรการที่ได้ผล ท่ามกลางความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อตลอดปีที่พุ่งสูงขึ้นจากพายุหิมะ ซึ่งทางการจีนตั้งเป้าที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 4.8%

ด้านยักษ์เอเชียอีกราย "อินเดีย" ก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางราคาอาหารผัก ผลไม้ ที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้แบงก์ชาติอินเดียอาจมีโอกาสน้อยลงที่จะลดดอกเบี้ย

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมระบุว่า เงินเฟ้อ แตะระดับ 5.02% ในช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทำให้รัฐบาลอาจต้องดำเนินมาตรการเพื่อรับมือเงินเฟ้อ หลังจาก คาดการณ์ว่าผลผลิตพืชช่วงฤดูหนาว เช่น ข้าวสาลี ข้าว อาจน้อยลงในปีนี้ โดยมองว่าผลผลิตรวมอาจลดลงจาก 106.7 ล้านตัน เหลือ 103.4 ล้านตัน ในปีนี้ และในส่วนของข้าวสาลีลดลงจาก 75.8 ล้านตัน เมื่อปีกลาย เหลือ 74.8 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวอาจลดจาก 13.2 ล้านตัน เหลือ 12.6 ล้านตัน

ภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเริ่มมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง เพราะยักษ์ใหญ๋ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา จีน อินเดีย กำลังประสบปัญหา ใครที่เป็นผู้ประกอบธูรกิจภาคการส่งออก คงต้องเตรียมตัวในการหาตลาดเกิดใหม่ เพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งอาจจะมาถึงในอีก 3 ปีข้างหน้า เตรียมตัวเอาไว้ก่อนปลอดภัยกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: