วันนี้ ผมจะลองยกตัวอย่างการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการชนะทั้งคู่ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ท่านอาจจะประสบในอนาคตต่อไป
เพื่อนสองคนเกิดความขัดแย้งภายในกลุ่ม โดยได้มีงานกลุ่มงานหนึ่งที่ต้องทำร่วมกันเป็นกลุ่มประมาณ 7 คน และต้องมีการนำเสนอหน้าชั้นเรียน แดงต้องการให้ทำ Power Point ประกอบการนำเสนอ เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด แต่ดำเสนอความคิดเห็นว่าทำเป็นเพียงรูปเล่มรายงานก็น่าจะเพียงพอแล้ว โดยได้ให้เหตุผลว่า ระยะเวลาในการทำค่อนข้างมีจำกัด และมีงานอย่างอื่นที่ต้องทำอีกมาก อาจจะทำเสร็จไม่ทันตามวันเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้ ทั้งสองโต้แย้งและต่างแสดงเหตุผลของตน สมาชิกในกลุ่มก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับแดง และเห็นด้วยกับดำ เวลาผ่านไปนานพอสมควรก็ยังตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดได้มีสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งได้เสนอการแก้ปัญหา โดยกล่าวว่า ให้ทำงานเป็นรูปเล่มรายงาน และทำเป็น Power Point ด้วย โดยแบ่งงานกันทำตามความถนัดและความสามารถของแต่ละบุคคล ในการทำงานนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าถ้าสมาชิกในกลุ่มให้ความร่วมมือกัน มีความตั้งใจที่จะทำงานอย่างเต็มที่ งานก็คงจะสำเร็จทันเวลาแน่นอน และได้ซักถามความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ถึงแม้จะมีสมาชิกบางคนที่ยังไม่ค่อยพอใจและไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับในมติข้อตกลงของคนส่วนใหญ่ จากนั้นก็แยกย้ายกันไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย สุดท้ายงานก็สำเร็จทันเวลา
แนวทางการแก้ไขปัญหา
1. ประชุมกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นออกมาอย่างหลากหลาย และ รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนภายในกลุ่ม เพราะการตัดสินใจของกลุ่มจะเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
2. มีการเลือกหัวหน้ากลุ่มที่มีความเหมาะสม คือ สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดได้ และรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนภายในกลุ่ม มีความเป็นผู้นำ
3. การประนีประนอม มีการโอนอ่อนผ่อนตาม ไม่สร้างความขัดแย้งให้ขยายกว้างไปมากกว่าเดิม
4. สมาชิกในกลุ่มต้องมีการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยให้เพื่อนทั้งสองคนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้คุยกัน เพื่อสร้างความเข้าใจ และหาข้อยุติที่เหมาะสม
5. ให้กำลังใจและมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ควรช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อขจัดปัญหา ไม่ยัดเยียดปัญหาให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนคอยแก้ไข เมื่อเกิดความขัดแย้งก็ต้องร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และที่สำคัญต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนในกลุ่มด้วย
วิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มนี้ใช้วิธี คือทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ชนะ (Win-Win methods) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ มีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน (Integrative problem solving)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น