28 ก.ย. 2550

เทคนิคจูงใจลูกน้อง...ให้ทำงาน

เมื่อครั้งที่แล้ว เราพูดถึงสาเหตุการลาออกของพนักงาน วันนี้เราลองมาดู เทคนิคการจูงใจลูกน้องให้ทำงาน ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานของท่านเต็มใจและพร้อมในการทำงาน

การจูงใจลูกน้องควรเริ่มต้นจากการพยายามทำให้ลูกน้องอยากจะทำงานให้ด้วยใจ มิใช่เป็นการทำงานด้วยการบังคับหรือสั่งให้ทำ เพราะผลงานที่เกิดขึ้นอาจไม่ดีเท่าที่ควร เขาเล่าให้ฟังว่าลูกน้องแต่ละคนมีความต้องการ มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป วิธีการจูงใจลูกน้องย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคนด้วยเช่นกัน

พัฒนาความสามารถของลูกน้องด้วยใจ
หัวหน้าควรใส่ใจและตั้งใจจริงที่จะพัฒนาความรู้ ความสามารถของลูกน้อง ไม่ต้องกลัวลูกน้องจะเก่งหรือได้ดิบได้ดีเกินหน้าเกินตา กว่าหัวหน้างาน ซึ่งหัวหน้างานควรให้โอกาสลูกน้องได้รับการฝึกอบรม รวมถึงการให้เวลากับลูกน้องในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน การเป็นพี่เลี้ยง การให้คำปรึกษาแนะนำเมื่อลูกน้องมีปัญหา ซึ่งหัวหน้างานเองจะต้องตระหนักเสมอว่าการพัฒนาลูกน้องเป็นภารกิจหน้าที่ที่สำคัญนอกจากการบริหารและพัฒนาการทำงานของตนเอง และของหน่วยงาน

ปฏิบัติกับลูกน้องด้วยความเป็นธรรม
ความยุติธรรมในการปฏิบัติกับลูกน้องแต่ละคนเป็นสิ่งที่สามารถจูงใจลูกน้องให้ทำงานได้เช่นกัน หัวหน้างานไม่ควรลำเอียงหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายงาน การประเมินผลการทำงาน การกล่าวยกย่องชมเชย การลงโทษ การว่ากล่าวตักเตือนพนักงาน รวมถึงการพิจารณาให้ค่าตอบแทนแก่พนักงาน

ให้ความเป็นกันเองกับลูกน้อง
บรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถจูงใจให้ลูกน้องทำงานให้ หัวหน้างานควรสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เป็นกันเอง ทำเสมือนสถานที่ทำงานเป็นบ้านหลังที่สอง พยายามสร้างความอบอุ่นในการทำงานให้กับลูกน้อง ซึ่งมีหลากหลายวิธีการที่จะสร้างความเป็นกันเองกับลูกน้องของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็น การจัดให้มี Morning Talk เพื่อพูดคุยหรือปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการจัดเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสพิเศษแก่ลูกน้องในทีม

เปิดโอกาสให้ลูกน้องมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
หัวหน้างานควรตระหนักถึงความก้าวหน้าในสายอาชีพของลูกน้อง ไม่มีใครที่ต้องการอยู่เฉย ๆ โดยไม่หวังตำแหน่งงานหรือความก้าวหน้าในอาชีพของตน ซึ่งหัวหน้างานควรจัดเตรียมเส้นทางความก้าวหน้าของตำแหน่งงานให้กับลูกน้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่งงาน การเปิดโอกาสให้ลูกน้องหมุนเวียนเปลี่ยนงาน หรือโอนย้ายงานข้ามหน่วยงาน ผู้ที่เป็นหัวหน้างานที่ดีไม่ควรกักกันให้ลูกน้องทำงานอยู่กับตนเองเพียงฝ่ายเดียว ควรปล่อยให้ลูกน้องมีโอกาสเติบโตในสายงานอื่นตามที่พวกเขาต้องการ

ไม่มีความคิดเห็น: