16 ก.พ. 2551

ชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบมาตรการ 30%

ชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบมาตรการ 30%

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ใช้มาตรการนี้ ตอนนี้กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนเชิงนโยบายที่สำคัญ เพราะรัฐบาลผสมภายใต้แกนนำของพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค เคยกล่าวไว้ในช่วงหาเสียง ประกาศชัดเจนว่าต้องการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แต่พอเข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่าทีเปลี่ยน บอกว่าขอหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

ขณะที่ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เคยประกาศว่า มาตรการกันสำรอง 30% เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่ถ้าต้องยกเลิก แบงก์ชาติเองก็มีความกังวลไม่น้อย

อย่างไรก็ตามมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าควรจะคงมาตรการ หรือยกเลิกมาตรการนี้ เพราะไม่ว่ากระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะ ตัดสินใจเลือกแนวทางใด ย่อมมีผลทั้งผลดีและผลเสียเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้กลุ่มที่เห็นด้วยและสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ส่วนใหญ่จะเป็นฝั่งตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดเงิน เนื่องจากประเมินว่ามาตรการนี้มีผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก แค่มาตรการมีผลเพียงวันเดียว (19 ธ.ค.2549) ก็ทำให้ตลาด หลักทรัพย์ปั่นป่วนและตกต่ำสุดขีดเป็นประวัติการณ์ ดัชนีหุ้นร่วงกว่า 100 จุด และมูลค่าราคาตลาดหุ้นหายไปกว่า 800,000 ล้านบาท จึงเป็นฝันร้ายของผู้ที่เสียหายหากมาตรการนี้ยังคงอยู่

คงมาตรการ 30% ตลาดตราสารหนี้ซึม

มีการประเมินว่า หากยังคงมาตรการกันสำรอง 30% ไว้ ผลเสียที่ปรากฏแล้วคือด้านจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน โดยนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในนโยบายของทางการ เพราะไม่แน่ใจว่าทางการจะมีมาตรการหรือนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ที่สำคัญมาตรการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป ไม่เป็นมิตร กับตลาด และถูกตีความในทางที่ไม่ดีต่อประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยไม่ต้อนรับเงินทุนจากต่างประเทศ

จึงเห็นว่าถ้าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ทางการต้องสร้างความชัดเจนทางนโยบายด้วยการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยจำเป็นต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้ขยายตัวต่อเนื่อง หากยังคงมาตรการนี้อยู่อาจทำได้ลำบาก โดยเฉพาะ หากต้องระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้

ทั้งนี้การนำเงินเข้ามาลงทุน ในส่วนการลงทุนโดยตรงและการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้ แต่ตลาดตราสารหนี้ ยังถูกกฎนี้คุมอยู่ แม้ทางการจะผ่อนปรนมาตรการให้นักลงทุนเลือกว่า จะกันสำรอง 30% หรือเลือกป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวน (fully hedge) ซึ่งไม่ว่าเลือกทางใดก็มีต้นทุนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นหากคงมาตรการกันสำรอง 30% ไว้ จะทำให้ต้นทุนทาง การเงินของเอกชนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้

จากข้อมูลแบงก์ชาติที่รายงานว่า ก่อนออกมาตรการกันสำรอง 30% ในปี 2549 มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ 4,661 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.3% ของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่หลังจากออกมาตรการ ข้อมูลตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2550 มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ลดลงเหลือเพียง 715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.4% ของจีดีพี

นอกจากนั้น มาตรการกันสำรอง 30% ยังเป็นกำแพงทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยน 2 ตลาด คือ ตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออนชอร์) กับตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ (ออฟชอร์) ทำให้มีช่องว่างที่อาจ เกิดการเก็งกำไรเงินบาทได้

แนะต้องส่งสัญญาณชัด

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นว่า ควรยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพราะจะมีผลทำให้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติสะดวกขึ้น เป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในตลาด หุ้นไทย เนื่องจากมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับตลาดหุ้น

ด้าน นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เห็นว่า ถ้าประเทศจะมีการลงทุนในอนาคต ก็ควรยกเลิกมาตรการนี้ไป เพราะมาตรการนี้เป็นอุปสรรคสำหรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะในความรู้สึกของนักลงทุนต่างชาติ ยังกลัวว่า เมื่อเคยมีมาตรการกันสำรอง 30% แล้วประเทศไทยจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกหรือไม่ ดั้งนั้นสิ่งที่ ธปท.ควรทำอีกอย่าง คือ การส่งสัญญาณให้ระบบมีความเชื่อมั่นว่าจะไม่ออกมาตรการใดที่เหนือความคาดหมายอีก

"ไม่ยกเลิก" ธสน.ห่วงลงทุนไม่โต

ด้านฝ่ายวิชาการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ก็สนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% โดยจากรายงานวิเคราะห์ที่ออกมาล่าสุดระบุว่า หากไม่รีบยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของหลายอุตสาหกรรมซึ่งใช้กำลัง การผลิตจนเกือบเต็มกำลังแล้ว และจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ความหวังที่จะเห็นภาคการลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวไม่ดีนักในปี 2551

"การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% โดยเร็วเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ภาคการลงทุนดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด และจะส่งผลดีต่อเนื่องมายังภาคการบริโภคด้วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีสัดส่วนถึง 77% ของจีดีพี นอกจากนี้ การลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยอาศัยจังหวะเวลาที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของประเทศอีกทางหนึ่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่ตลาดบน ทำให้การส่งออกขยายตัวยั่งยืนในระยะยาว" ธสน.ระบุในรายงานวิเคราะห์

ดังนั้นหากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% กลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาได้ และกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ของการยกเลิกมาตรการครั้งนี้มากที่สุด คือ ตลาดทุน เพราะจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทำให้ตลาดทุนกลับมาคึกคัก มีสภาพคล่องมากขึ้น และน่าจะช่วยลดภาระต้นทุนเอกชนได้ในที่สุด

ผู้ส่งออกหนุนคงมาตรการ

สำหรับผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นหากยกเลิกมาตรการ 30% ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันและเป็นกังวลมากที่สุด คือ ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจรุนแรงขึ้น และกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นและเร็วขึ้น จนกระทบส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติต้องคิดหนัก เพราะการแข็งค่าของเงินบาทก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีที่เห็นชัดคือจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และทำให้การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมีโอกาสทำได้มากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามอาจทำให้ขีด ความสามารถแข่งขันของผู้ส่งออกลดลง จนกระทบภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งอาจเป็นผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงภาคเศรษฐกิจจริงและการจ้างงานในที่สุด

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าไทย ซึ่งเห็นว่าควรคงมาตรการกันสำรอง 30% ไว้ เพราะเป็นห่วงว่าหากยกเลิกทันที ผลกระทบที่จะตามมาคือทำให้เงินบาทผันผวนและแข็งค่าขึ้นทันที ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก

"มาตรการกันสำรอง 30% ที่ใช้มาปีกว่า มีข้อดีคือช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ลดแรงกดดันค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่าเร็วเกินไป ทำให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้" นายพรศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ก่อนที่จะออกมาตรการกันสำรอง 30% ในปี 2549 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณ 17% แต่หลังจากมีมาตรการกันสำรอง 30% ในปี 2550 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณ 6% เท่านั้น ส่วนความผันผวนของเงินบาทก็ลดลงจากก่อนมีมาตรการเงินบาทผันผวนอยู่อันดับ 3 เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่เมื่อมีมาตรการเงินบาทผันผวนลดลงอยู่อันดับ 8 เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค

ด้านนักวิเคราะห์และนักค้าเงินต่างประเมินว่า ถ้ายกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะเห็นค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะขึ้นไปถึงระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ หรืออาจปรับตัวแข็งขึ้นไปอีกก็ได้ ในภาวะที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่อง จากปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ

นักวิชาการแจงข้อดี-ข้อเสีย

ขณะที่ นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินถึงข้อดีและข้อเสียว่า ถ้าคงมาตรการนี้ไว้ มีข้อดีคือช่วยจำกัดเงินทุนระยะสั้นบางส่วนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร และช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ที่สำคัญทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ได้

ส่วนข้อเสียของการคงมาตรการนี้ คือทำให้ประสิทธิภาพของทุนลดลง เพราะเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะการกันสำรอง 30% ถือเป็นอัตราที่สูงมาก หากยังคงมาตรการกันสำรองระดับนี้ไว้นานเกินไป จะกระทบต่อโครงสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนหายไปเป็นจำนวนมาก

แต่หากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็มีข้อเสียที่ต้องพิจารณาคือ จะทำให้แบงก์ชาติไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยบริหารเงินทุนระยะสั้น หากจะดูแลเงินทุนระยะสั้นอาจต้องแทรกแซงอย่างหนัก ดังนั้นแบงก์ชาติอาจต้องปล่อยให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้ ซึ่งอาจเป็นผลดีในแง่ลดแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ก็มีผลเสียต่อผู้ส่งออกบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่พึ่งวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก แต่การยกเลิกมาตรการนี้ก็มีข้อดี คือจะทำให้ระบบสามารถปรับตัวตามกลไกตลาดได้มากขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ การทำนโยบายใดนโยบายหนึ่งจะหวังให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน สามารถรักษาทุกโรคได้นั้นเป็นไปไม่ได้ มาตรการกันสำรอง 30% ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะคงหรือยกเลิกมาตรการนี้ อาจไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศได้ แต่หวังเพียงว่าการตัดสินใจเลือกแนวทางใดนั้น ต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์โดยรวมของเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: