27 ก.พ. 2551

ชำแหละต้นทุนบริษัทด้วยหลัก ABC

ชำแหละต้นทุนบริษัทด้วยหลัก ABC

คอลัมน์ L&S HUB

ABC ย่อมาจากคำว่า "Activity-Based Costing" หมายความถึง "การคำนวณต้นทุนกิจกรรม" ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้ "กิจกรรม" เป็นฐานในการคำนวณ โดยปกติองค์กรส่วนใหญ่ใช้การคำนวณต้นทุนแบบดั้งเดิม โดยพิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่าย 4 ประเภทหลัก คือ ค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากร ด้านพื้นที่ใช้สอย ด้านเครื่องจักรอุปกรณ์และด้านวัสดุสิ้นเปลือง

เมื่อเปรียบเทียบการคำนวณต้นทุนแบบดั้งเดิมกับการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) ในการคำนวณต้นทุนกิจกรรมในขั้นแรกจะต้องมีการจำแนกเนื้องานตามกิจกรรมที่ปฏิบัติจริง

เมื่อแยกเป็นรายกิจกรรมได้แล้ว จึงจะพิจารณาค่าใช้จ่ายใน 4 ปัจจัยหลัก คือ ด้านบุคลากร พื้นที่ใช้สอย เครื่องจักรอุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลืองของแต่ละกิจกรรม

จะเห็นได้ว่า "การคำนวณต้นทุนกิจกรรม" เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของต้นทุนที่เกิดขึ้นในรายละเอียดตามเนื้องานที่ปฏิบัติจริง ซึ่งเรียกว่า "ต้นทุนต่อหน่วย" หากนำต้นทุนต่อหน่วย มาคูณด้วยจำนวนครั้งที่ทำกิจกรรมนั้น จะได้ต้นทุนโดยรวมของแต่ละกิจกรรม

ตัวอย่างการจ่ายสินค้าของบริษัท A จะช่วยให้เข้าใจในวิธีการคำนวณต้นทุนกิจกรรมในรายละเอียด หากบริษัท A มีลูกค้า 3 ราย คือ บริษัท X บริษัท Y และบริษัท Z โดยปริมาณการสั่งซื้อสินค้า สินค้าชนิดหนึ่งในเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาของลูกค้าแต่ละราย มีจำนวน 100 ชิ้นเท่ากัน แต่จำนวนการสั่งซื้อและปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้งของลูกค้าแต่ละรายไม่เท่ากัน

เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่แตกต่างกันทำให้วิธีการจ่ายสินค้าจากคลังสินค้าเพื่อส่งมอบให้ ลูกค้าแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของการจ่ายสินค้าแตกต่างกันไปด้วย เช่น ถ้าสินค้าของบริษัท A ที่ขายให้แก่บริษัททั้งสาม มีปริมาณบรรจุกล่องละ 20 ชิ้น ฉะนั้นการขายสินค้าให้กับบริษัท Z น่าจะมีต้นทุนสูงที่สุด

เนื่องจากแม้ยอดขายจะเท่ากันกับบริษัทอื่น แต่ปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละครั้งโดยไม่สามารถจ่ายออกมาเป็นกล่องได้ เนื่องจากปริมาณน้อยเกินไป เมื่อนับจำนวนครั้งในการทำกิจกรรมการจ่ายสินค้าออกจากคลังสินค้าจึงมีจำนวนสูงกว่าบริษัทอื่น

หากนำต้นทุนเฉลี่ยของการจ่ายสินค้าออกจากคลังสินค้าแต่ละครั้งมาคูณกับจำนวนครั้งของกิจกรรม จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมที่เกิดขึ้นสูงกว่าบริษัทอื่น

อย่างไรก็ตามวิธีการสั่งซื้อ ปริมาณการสั่งซื้อ ตลอดจนจำนวนครั้งของการสั่งซื้อล้วนเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งทางบริษัทผู้ขายไม่สามารถกำหนดได้ แต่อาจนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมการซื้อให้เอื้อประโยชน์ต่อการลดต้นทุนของกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นได้ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวกับลูกค้า เพื่อให้ทั้ง สองฝ่ายเกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่องของต้นทุนที่เกิดขึ้น อันจะนำมาซึ่งการเจรจาตกลงทางธุรกิจที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าต้นทุนโลจิสติกส์ของบริษัท Z สูงกว่าบริษัท X และบริษัท Y หรือไม่ เพียงใด บริษัทผู้ขายสามารถ ใช้วิธีการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) มาใช้ โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้

เนื่องจากสินค้าที่มีขนาดบรรจุกล่องละ 20 ชิ้น หากปริมาณการสั่งซื้อเป็น 20 ชิ้น จะสามารถจ่ายสินค้าออกจากคลังได้ทั้งกล่อง (case picking) แต่ถ้าปริมาณการสั่งซื้อน้อยกว่า 20 ชิ้น การจ่ายสินค้าออกจากคลังเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า จะต้องทำเป็นชิ้นตามจำนวนที่สั่งซื้อ (piece picking) และหากปริมาณการสั่งซื้อมากกว่า 20 หรือ 40 หรือ 60 ชิ้น

การนำสินค้าออกจากคลังจะสามารถจ่ายออกมาได้เป็นกล่อง และที่เหลือจึงนำออกมาเป็นจำนวนชิ้นตามคำสั่งซื้อ

อนึ่ง กิจกรรมในการนำสินค้าออกมาจากคลังสินค้าประกอบด้วย ต้นทุนการจ่ายสินค้าเป็นชิ้น และ/หรือต้นทุนการจ่ายสินค้าเป็นกล่องตามแต่กรณี รวมถึงต้นทุนในการดำเนินการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า ดังรายละเอียดในตาราง 1 และ 2 ตามลำดับ

ต้นทุนต่อการปฏิบัติงานหนึ่งครั้งหรือต้นทุนต่อหน่วย ในแต่ละกิจกรรมกำหนดไว้ดังนี้ การจ่ายสินค้าออกเป็นชิ้น 10 เยน/ชิ้น, การจ่ายสินค้าออกเป็นกล่อง 15 เยน/กล่อง, การดำเนินการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า 50 เยน/ครั้ง ดังนั้นต้นทุนของลูกค้าแต่ละราย จะคำนวณโดย "ต้นทุนต่อหน่วย X ปริมาณ" ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ดังแสดงในตาราง 2

ผลลัพธ์จากการคำนวณที่ได้แสดงว่า ถึงแม้ยอดขายของลูกค้าแต่ละรายจะเท่ากัน แต่ต้นทุนโลจิสติกส์จำแนกตามกิจกรรมที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้กำไรสุทธิที่ได้จากลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกัน

จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าแม้จะพิจารณาจากกิจกรรมการจ่ายสินค้าจากคลังสินค้าเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าเพียงกิจกรรมเดียว มีต้นทุนแตกต่างกันถึง 1,175 เยน คือมีตั้งแต่ 325 เยน จนถึง 1,500 เยน ดังนั้น หากพิจารณาถึงต้นทุนในกิจกรรมอื่นๆ จะพบความแตกต่างของต้นทุนโดยรวมมากยิ่งขึ้น

จากผลการคำนวณสามารถระบุต้นทุนเป็นตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของต้นทุน จะช่วยให้บริษัทสามารถหามาตรการในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ จะส่งผลให้บริษัทได้ผลกำไรสูงขึ้นในที่สุด

จากการคำนวณต้นทุนกิจกรรม (ABC) ทำให้ทราบว่าผลกำไรที่ได้จากลูกค้าแบบบริษัท Z ต่ำกว่าผลกำไรจากลูกค้ารายอื่น เนื่องจากการสั่งซื้อแต่ละครั้งมีปริมาณน้อย แต่มีจำนวนครั้งในการสั่งซื้อสูง เป็นจุดที่ควรจะได้รับการแก้ไข

แต่หากใช้วิธีการบันทึกต้นทุนแบบดั้งเดิม ที่แบ่งตามประเภทรายการค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการแทบจะไม่ทราบถึงความแตกต่างของต้นทุนที่เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: