23 ก.พ. 2551

น้ำมันแตะ 50 บาท ?

น้ำมันแตะ 50 บาท ?


--------------------------------------------------------------------------------
สุกรี แมนชัยนิมิต
Positioning Magazine มกราคม 2551

7 มกราคม 1999 คนขับรถเก๋งยังเติมเบนซิน 95 ราคาลิตรละ 10.35 บาท ผ่านไป 8 ปี ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2007 เติมกันที่ลิตรละ 32.49 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ทำให้บางคนเคยเติมน้ำมันจ่ายเพียงเดือนละ 3,000 บาท ต้องจ่ายเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน แม้บางคนได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 10% แต่ก็ยังชดเชยไม่ได้กับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 300%

นี่คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของแต่ละคนในแต่ละวัน ซึ่งหลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนจะรู้กันเป็นอย่างดีว่า นับจากนี้ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาขึ้นเท่านั้น จนมีการพูดถึงราคาขายปลีกกันที่ 40-60 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดิบทะลุเกิน 100 หรืออาจถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหากเกิดภาวะสงคราม เพราะฉะนั้นปี 2008 คืออีกปีหนึ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับเทรนด์ราคาน้ำมัน

จีน-อินเดียโตดันน้ำมันพุ่ง

แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัว และมีปัญหาไม่จบสิ้น ตั้งแต่ปัญหาซับไพร์มโลน มาจนถึงภาวะเงินเฟ้อ จนฉุดกำลังซื้อ กดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเหลือเพียงประมาณ 2% ต่อปีเท่านั้น แต่อีกมุมหนึ่งของโลกอย่างจีนและอินเดีย และตะวันออกกลางกลับมีการลงทุนจนเศรษฐกิจขยายตัวตั้งแต่ 8-10% โดยเฉพาะการเติบโตจากการส่งออกสินค้า ที่ประเทศเหล่านี้มักจะชดเชยราคาน้ำมัน เพื่อคุมต้นทุนผู้ผลิตสินค้าส่งออก ซึ่ง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปว่า ความต้องการใช้น้ำมันในโลกยิ่งสูง ราคาน้ำมันก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อน้ำมันแพงมาก คนจะประหยัดมากขึ้น จะทำให้ความต้องการชะลอตัวลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่

เกมโอเปก

การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2007 ที่มีมติไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลก เป็นผลที่ “ปิยสวัสดิ์” อ่านเกมว่า เป็นการบอกให้โลกรับรู้ว่าประเทศกลุ่มโอเปกต้องการ หรือมีความพอใจระดับราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ในขณะนั้นคือ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะเป็นการเป็นประชุมและตัดสินใจอย่างรวดเร็วภายใน 45 นาทีเท่านั้น

สาเหตุที่โอเปกต้องการคงระดับราคาน้ำมันสูงไว้ เพราะประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกที่ส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลางมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากการลงทุนโครงการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องหารายได้

นอกจากนี้หลายประเทศกำลังการผลิตลดลง และไม่มีแหล่งน้ำมันแหล่งใหม่ ดังนั้นจึงเป็นช่วงหารายได้ เพื่อเก็บเงินไว้

ความมั่นใจของโอเปกที่จะตรึงกำลังการผลิตเพื่อให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ 90-100 เหรียญสหรัฐ ยังเป็นเพราะเห็นว่าโลกยังไม่มีพลังงานทดแทนอื่นมาใช้ หลายโครงการไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าหลายเท่า ส่วนพลังงานจากไบโอดีเซลก็ยังต้องใช้เวลาและพื้นที่ในการสร้างและผลิต เช่น ไบโอดีเซลจากปาล์ม จึงจะเพียงพอต่อความต้องการใช้

“ปิยสวัสดิ์” สรุปว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผันผวนเพียงใด จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของโอเปกเป็นสำคัญ

แนวโน้ม 200 เหรียญสหรัฐ

ไม่เพียงเท่านั้นโอเปกยังออกมาขู่ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งไปถึงระดับ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากเกิดภาวะสงคราม เพราะขณะนี้ในตะวันออกกลางยังคงระอุ และไม่เพียงแค่ราคาแพงเท่านั้น แต่ยังจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบทั่วโลก หากมีการปิดเส้นทางขนส่งในช่องแคบเฮอมุสในตะวันออกกลางซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ ทำให้น้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลก 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นการผลิต 20% ของโลก

เมื่อ 5 ปีที่แล้วราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้แตะ 100 เหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบ 200 เหรียญต่อบาร์เรล ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดไม่ได้ หากเกิดขึ้นเท่ากับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอาจพุ่งไปที่ระดับ 40-60 บาทต่อลิตร

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ การเล่นเกมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ตลาดหุ้นไร้ความเชื่อมั่น จนกองทุนต่างชาติหันมาเก็งกำไรกับราคาน้ำมันมากยิ่งขึ้น

ประหยัด-ทางรอดคนไทย

ปี 2007 ประเทศไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันทุกประเภทประมาณ 800,000 ล้านบาท แม้จะไม่สูงจากปี 2006 และยังไม่สามารถคาดการณ์ปัจจัยภายนอกประเทศได้ว่าจะดันราคาน้ำมันปี 2008 จะไปถึง 200 เหรียญสหรัฐหรือไม่

“ปิยสวัสดิ์” บอกว่า มาตรการที่ช่วยลดการใช้น้ำมันได้ดีคือการปล่อยให้ราคาน้ำมันสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง เปรียบเทียบได้ในปี 2004 ที่รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาน้ำมัน โดยนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลงมาชดเชยราคาขายปลีก ทำให้มียอดนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% แต่เมื่อปี 2005 เริ่มใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน ทำให้นำเข้าลดลง 6% และปี 2006 นำเข้าลดลง 5% และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2007 ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2006

ในกรณีนี้คือหากรัฐบาลใหม่ต้องการสะสมแต้มเพื่อความอยู่รอดและใช้นโยบายเดิมในการชดเชยราคาน้ำมันอีก อาจทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ประเทศจะมีภาระหนี้ในระยะยาว

นอกเหนือจากความประหยัดแล้ว การหาพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน ยังเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งปี 2008 กระทรวงพลังงานมีแผนนำน้ำเสียและขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานใช้แทนน้ำมัน แอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) และไฟฟ้า โดยใช้งบประมาณกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 4,781 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 760 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5,400 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น: